“สุริยะ” พอใจผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสปี 64 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ได้ผลตามเป้าแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เผยตัวเลขตั้งโรงงานใหม่ 1,894 โรงลดลงเพียง 6.33% เม็ดเงินลงทุนกว่า 2.25 แสนล้านบาท ด้าน “กรอ.” โชว์ความสำเร็จในการดำเนินงานผ่าน 6 แผนโครงการด้วยนวัตกรรม 4.0 เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ให้สามารถปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ต้องปรับตัวให้อยู่รอด!
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานผลการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน ตั้งใหม่ ขยาย และการตั้งเขตประกอบการ ในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค. 63-30 มิ.ย. 64) ภาพรวมทั่วประเทศมีการประกอบกิจการโรงงานใหม่ จำนวน 1,894 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท มีการจ้างงาน 58,765 คน โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 62.24% ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ
ส่วนของการขยายโรงงานใหม่มีจำนวน 209 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 69,083.30 ล้านบาท มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 35,663 คน ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการโรงงานจำนวน 567 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนจำนวน 29,541.10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการ ด้วยทุนจดทะเบียน 510 ล้านบาท
“ตัวเลขตั้งโรงงานใหม่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 6.33% ก็ยังถือว่าไม่ได้มากนักท่ามกลางสถานการณ์โควิดและมีทิศทางที่ดีซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในหลายๆ ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น” นายสุริยะกล่าว
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า 3 ไตรมาสในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-มิ.ย. 2564) มีการประกอบกิจการโรงงานใหม่และขยายโรงงานใหม่รวม 2,103 โรงงาน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.8% ที่มี 2,724 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 294,793.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.57% จากปีก่อนมีมูลค่า 290,232.75 ล้านบาท เนื่องจากบางโรงงานแจ้งขยายและเริ่มลงทุนปีก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ลงทุนหรือขยายในปีนั้น โดยมาขยายและลงทุนปีนี้แทน
โดยแบ่งเป็นการประกอบกิจการโรงงานใหม่ 1,894 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.24% จากปีก่อนอยู่ที่ 139,124.9 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ และเป็นการขยายโรงงานใหม่มี 209 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 69,083.30 ล้านบาท ลดลง 54.28% จากปีก่อนอยู่ที่ 151,107.85 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการแล้วด้วยทุนจดทะเบียน 510 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรอ.ได้ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสามารถตรวจติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ครบ 100% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน มีการติดตามสถานการณ์และรายงานการตรวจเชิงรุกของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานข้อมูลโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง มีการพัฒนาระบบบริหารกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-FULLY MANIFEST) มีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการจัดการกากอุตสาหกรรมตามหลัก 3Rs เป็นต้น
การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ในปี 2564 กรอ.อยู่ระหว่างดำเนินการ “โครงการรายงานและติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม” เพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงประเมินผลตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจก (tracking report) รายปี สำหรับมาตรการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เพื่อรองรับการรายงานตามพันธกรณีความตกลงปารีสและกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ต่อไป
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) จากข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวมาแล้วจำนวน 42,551 ใบรับรอง โดยปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย ระดับ 1 จำนวน 369 ใบรับรอง ระดับ 2 จำนวน 574 ใบรับรอง ระดับ 3 จำนวน 727 ใบรับรอง ระดับ 4 จำนวน 74 ใบรับรอง และระดับ 5 จำนวน 8 ใบรับรอง รวมจำนวน 1,752 ใบรับรอง ทั้งนี้ มีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ. 2564-2580) ว่าสถานประกอบการจะต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดภายในปี 2568 โดยในปีนี้ให้สถานประกอบการได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียว 40%
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอ.ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 กว่า 56,000 โรงงาน ซึ่งเบื้องต้นผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564