กรมทางหลวงเร่งออกแบบขยาย ทล.121 หรือถนนวงแหวนรอบ 3 จ.เชียงใหม่ จุดตัด ทล.108-จุดตัด 1006 จ.เชียงใหม่ เป็น 4-6 ช่องจราจร คาดเริ่มก่อสร้างปี 65 งบ 1.5 พันล้านบาท เสร็จใน 2 ปี แก้ปัญหารถติด
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงหมายเลข 121 หรือวงแหวนรอบ 3 ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 108-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1006 จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 16.3 กิโลเมตร ว่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2565 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท และคาดว่าใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 2 ปี
โดยโครงการวงแหวนรอบ 3 จ.เชียงใหม่มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม.0+000 และสิ้นสุดที่ กม.16+346 ระยะทางประมาณ 16.3 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีการผสมผสานระหว่างแนวคิดด้านวิศวกรรม แนวคิดด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่เน้นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และการออกแบบเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับรูปแบบก่อสร้างทั่วไปเป็นถนนแอสฟัลติกคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร และ 6 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางชนิดกดร่อง (Depressed Median) ส่วนช่วง กม.10+500-กม.15+310 แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก (Raised Median) ทางขนานที่ให้บริการชุมชนสองข้างทาง ออกแบบแยกจากทางสายหลักด้วยเกาะกลางแบบกดร่อง (Depressed Median)
ทั้งนี้ รูปแบบทางแยกโครงการมีอยู่ด้วยกัน 5 ทางแยก ดังนี้
1. ทางแยกสะเมิง ทล.121 ตัด ทล.108 (กม.0+000)
1.1 ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับแบบทางเลี้ยววน (Loop Ramp) สำหรับทิศทางจราจรที่มาจากหนองควาย มุ่งหน้า อ.หางดง และจาก อ.สันกำแพง มุ่งหน้าสู่เชียงใหม่
1.2 ทิศทางเลี้ยวขวาจาก อ.หางดง มุ่งหน้า อ.สันกำแพง ให้ใช้สะพานทางเลี้ยวกึ่งตรง
1.3 ทิศทางเลี้ยวขวาจากเชียงใหม่ไปหนองควาย ให้ใช้ทางกลับรถใต้สะพานบน ทล.121
1.4 แยกพืชสวนโลกออกแบบเป็นสะพานข้ามแยกในทิศทาง อ.หางดง มุ่งหน้าไปตัวเมืองเชียงใหม่
2. ทางแยกกองทราย ทล.121 ตัด ทล.106 (กม.8+500) เป็นพื้นที่คุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม มีแนวคิดออกแบบเพื่ออนุรักษ์ต้นยางนาบริเวณทางแยก โดยออกแบบการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 121 เป็นรูปแบบสะพานข้ามแยก การจราจรบนทางหลวงหมายเลข 106 และทิศทางเลี้ยวขวาให้ใช้วงเวียน
3. ทางแยกซูเปอร์ไฮเวย์ ทล.121 ตัด ทล.11 (กม.10+000) ก่อสร้างทางแยกต่างระดับให้สมบูรณ์ เพิ่มช่องทางเลี้ยวมุ่งหน้าไป จ.ลำพูน และทางเลี้ยววน (Loop Ramp) มุ่งหน้าไป อ.หางดง ออกแบบทางเลี้ยวระดับพื้นเชื่อมทางเลี้ยววน (Loop Ramp) เดิมเพื่อรองรับการจราจรจากถนนเลียบทางรถไฟมุ่งหน้าไป อ.สันกำแพง
4. ทางแยกสันกลาง ทล.121 ตัด ทล.1317 (กม.13+000) ออกแบบการจราจรทางตรงบนทางหลวงหมายเลข 1317 และทางหลวงหมายเลข 121 ให้เป็นสะพานข้ามทางแยกที่ระดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ทิศทางเลี้ยวขวาทุกทิศทางออกแบบให้ใช้วงเวียน (ระดับ 1) สำหรับทิศทางอื่นเป็นทางเลี้ยวระดับพื้น
5. ทางแยกต้นเปาพัฒนาหรือแยกหลุยส์ ทล.121 ตัด ทล.1006 (กม.15+310) ออกแบบการจราจรทิศทางตรงบนทางหลวงหมายเลข 121 ใช้สะพานข้ามทางแยก ทางเลี้ยวขวาทุกทิศทางออกแบบให้ใช้วงเวียน สำหรับทิศทางอื่นเป็นทางเลี้ยวระดับพื้น ทิศทางตรงบนทางหลวงหมายเลข 1006 ออกแบบให้ใช้ทางลอด สำหรับรถที่สูงไม่เกิน 3.50 เมตร
โดยช่วงระหว่าง กม.0+000 ถึง กม.12+200 ที่ผ่านทางแยกสะเมิง แยกกองทราย และแยกซูเปอร์ไฮเวย์ ตรวจสอบพบว่าเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ต้องศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานเพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่วนแยกสันกลาง และแยกต้นเปาพัฒนาหรือแยกหลุยส์นั้นสามารถดำเนินการก่อสร้างเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจรได้ก่อน
เนื่องจากปัจจุบันทางหลวงสายดังกล่าวมีปริมาณจราจรหนาแน่น ทำให้รถสะสมเป็นระยะทางยาวบริเวณทางแยก ประกอบกับเป็นจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงสายสำคัญ จึงนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรบนสายทางดังกล่าวและโครงข่ายทางหลวงที่ใกล้เคียง อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการขนส่ง และการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งนี้ พื้นที่โครงการครอบคลุมใน 4 อำเภอ 9 ตำบล ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอหางดง อำเภอสารภี และอำเภอสันกำแพง และ 9 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแดด ตำบลหนองคาย ตำบลสันผักหวาน ตำบลท่าวังตาล ตำบลดอกแก้ว ตำบลหนองผึ้ง ตำบลไชยสถาน ตำบลป่าบง ตำบลสันกลาง และตำบลต้นเปา
เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ช่วยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความสมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงสนับสนุนแผนงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยในอนาคต