ผู้จัดการรายวัน360-รายการกีฬาเข้าถึงคนไทย 43 ล้านคน นีสเส็นเผยข้อมูลเชิงลึก ในยุคโควิดเศรษฐกิจดิ่งลง แบรนด์ไม่ควรหยุดทำสปอนเซอร์ อาจทำให้คู่แข่งขึ้นแซง แต่ควรทำการตลาดอย่างรัดกุม เหตุแฟนกีฬาเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง พร้อมเปย์และสนับสนุนแบรนด์มากกว่า ส่งผลต่อยอดขายในปลายทาง
นางสาวชินตา ศรีจินตอังกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นีลเส็น ได้ทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึกฐานผู้ชมกีฬาและการเติบโตของ E-Sport ในประเทศไทยในช่วง1ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี2563 มูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาในเอเชียสูงถึง 9.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ตลอดปี2563 ที่ผ่านมา รายการกีฬาต่างๆเข้าถึงคนไทยกว่า 43 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ดีในสถานการณ์โควิด ที่ทำให้บางช่วง ไม่มีการจัดแข่งขันกีฬา และเริ่มผ่อนผันให้มีการจัดแข่งขัน รวมถึงการถ่ายทอดสดมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้จากตัวเลข43 ล้านคนที่เข้าถึงรายการกีฬาในไทยนั้น คิดเป็น 84% ของคนไทยที่ดูกีฬาในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และกว่า 20 ล้านคน เป็นกลุ่มนักกีฬาหรือมีส่วนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาต่างๆ และกว่า 19 ล้านคนเป็นกลุ่มเล่นกีฬาเป็นประจำ ขณะที่แพลตฟอร์มในการรับชมรายการกีฬาคือ ทีวี 74% โซเชียลมีเดีย69% สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม 46% OTT แพลตฟอร์ม 44% เพย์ทีวี 37%
โดยรายการกีฬา 5อันแรก ที่คนไทยสนใจ คือ 1.ฟุตบอล 61% 2.วอลเล่ย์บอล 53% 3.แบดมินตัน 42% และมวยไทย 41% คือซึ่งพบว่ากลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบรายการกีฬานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ที่มีรายได้สูง
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ตลอด1ปีที่ผ่านมา มี 4 แบรนด์ที่สามารถทำสปอนเซอร์ชิพกับรายการกีฬา และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ 1. แบรนด์รถยนต์มิตซูมิชิ เข้าถึงกลุ่มผู้ชมกว่า 3.9 ล้านคน จากรายการการแข่งขัน 2020 AFC U-23 Championship 2.เครื่องดื่มโค้ก เข้าถึง 8.1 ล้านคน จากรายการมวยไทยไฟรท์ 3.ลีโอ โซดา เข้าถึง 1.1ล้านคน จากรายการฟุตบอล โตโยต้า ไทยลีก และล่าสุดกับ4.เนสกาแฟ เข้าถึง 5 ล้านคน กับรายการการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นส์ ลีก 2021
ทั้งนี้แฟนกีฬาเหล่านี้มองว่า มากกว่า 60% ของผู้ชมกีฬามีแนวโน้มที่ดีกับแบรนด์ จำแบรนด์ได้ โดยกว่า 55% พร้อมซื้อสินค้าของผู้สนับสนุนแบรนด์
นอกจากนี้ทางนีลเส็นยังให้ความสนใจกับกีฬาประเภทอีสปอร์ต ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่อายุ 27ปีลงมา หรือเป็นกลุ่มนักศึกษาหรือเริ่มทำงาน ซึ่งรายได้เฉลี่ยของแฟนกีฬารายเดือนไม่ต่ำกว่า 45,188 บาท และกว่า 79% สนใจการแข่งขันของอีสปอร์ต 74%ดูเพื่อความบันเทิง 61%ดูเพื่อเพิ่มทักษะในการเล่นอีสปอร์ต
โดยแบรนด์ที่ทำสปอนเซอร์ชิพกับอีสปอร์ตนั้น แฟนกีฬามองว่า 71% แบรนด์เหล่านี้พร้อมผู้สนับสนุวงการอีสปอร์ต และกว่า 69% คิดว่าเป็นการรับผิดชอบสังคม และ55% มองเห็นโอกาสในอีสปอร์ต ซึ่งแฟนกีฬาอีสปอร์ตพร้อมสนับสนุนแบรนด์และซื้อสินค้าเช่นกลุ่นแฟนกีฬาทั่วไป
นางสาวชินตา กล่าวสรุปว่า อินไซด์ที่ได้จากการเก็บข้อมูลครั้งนี้ พบว่า แฟนกีฬาชาวไทยมีอำนาจในการซื้อสูง และทีวีเป็นแพลตฟอร์มหลักในการรับชม ส่วนอีสปอร์ตมีความน่าสนใจต่อเนื่อง แบรนด์สินค้าควรให้ความสำคัญกับรายการกีฬา เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำมาซึ่งยอดขายที่ดี แม้ในสถานการณ์โควิดหรือเศรษฐกิจในช่วงขาลง ก็ไม่ควรตัดงบ เพราะอาจทำให้คู่แข่งแซงหน้าได้ แต่ควรใช้งบอย่างรอบครอบ เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ.