xs
xsm
sm
md
lg

ขยายผลจาก COVID-19 iMAP Platform บูรณาการข้อมูล-ระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่ทุกภารกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ภูมิสารสนเทศไม่ใช่แค่ข้อมูลแผนที่ แต่หมายรวมถึง การนำข้อมูลเชิงพื้นที่ประเภทต่างๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อบอกผลลัพธ์ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน เวลาใด อย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ตัดสินใจ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ แม้กระทั่ง สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ขณะนี้ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก เราก็สามารถนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ช่วยสนับสนุนการบริหารสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้

ที่ผ่านมา GISTDA มีบทบาทในการสนับสนุนการบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยพัฒนาระบบ iMAP ที่เน้นการบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลประชากร หรือข้อมูลที่ตั้งโรงงาน ตลาด ชุมชนแออัด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกันจนนำไปสู่คำตอบที่บอกเราได้ว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ปัจจุบันระบบบูรณาการข้อมูล หรือ iMAP สามารถสนับสนุนการทำงานให้กับ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยใช้ภูมิสารสนเทศและข้อมูลภาพจากดาวเทียมมาช่วยกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจนนำไปสู่การควบคุมพื้นที่ระบาดได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อไปว่า ระบบ iMAP ถือเป็นต้นแบบระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงพื้นที่ ทั้งในส่วนของผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารระดับหน่วยงานหรือพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกงานส่วนหน้า เป็นระบบมีจุดเด่นที่สำคัญของการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของการเชื่อมโยงและการจัดการข้อมูล เราต้องยอมรับว่า การมีข้อมูลเป็นจำนวนมากนับว่าเป็นเรื่องดี สามารถตอบคำถามได้มากยิ่งขึ้น แต่เมื่อไรก็ตาม ที่เราขาดการจัดการข้อมูลที่ดี ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาสร้างความสับสนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ดังนั้น การจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งเป็นงานที่มีความซับซ้อน เราจึงต้องอาศัยการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานร่วมกับปัญญาของมนุษย์ ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้เราสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจ “ครอบคลุม” ในประเด็นต่างๆ ได้ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดการกับปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากจะต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลากหลายแหล่ง หลายระบบและมาตรฐาน แล้ว เรายังต้องมีระบบการจัดการข้อมูลที่ดี และต้องคำนึงสิทธิส่วนบุคคลไปพร้อมๆกัน อีกด้วย

“ วันนี้ GISTDA มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการสนับสนุนทุกภารกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงสถานการณ์วิกฤตและเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และพร้อมอย่างยิ่งที่จะการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็นหน่วยงานจากภาครัฐหรือเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งาน สามารถนำมาใช้ช่วยพัฒนาพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนสามารถแก้ไขและบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ”ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว

อย่างไรก็ตามไม่เกินกลางปี 2565 ดาวเทียม 1 ใน 2 ดวงของระบบ THEOS-2 จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลภูมิสารสนเทศที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จนกลายเป็น “Big Data” เชิงพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “Spatial Big Data” ที่มีความทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ประโยชน์และมีความสำคัญ ที่จะทำให้การวางแผนและการตัดสินใจแก้ปัญหาด้านต่างๆ มีความถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น