xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการย้ำ!! ไร้กังวลฝีหนองในเนื้อหมู เลือกซื้อจากแหล่งมีมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจจะมีข้อสงสัยกันอยู่บ้างจากประเด็นข่าวออนไลน์ที่พบเห็นได้อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงกระแสในโซเชียลมีเดียที่มีการแชร์ต่อๆ กัน กรณีผู้บริโภคพบฝีหนองหรือเข็มในเนื้อหมูขณะรับประทาน หรือก่อนนำไปประกอบอาหาร ทำให้ผู้บริโภคที่โปรดปรานเนื้อหมูเกิดความเคลือบแคลงใจกันไม่น้อยว่ายังรับประทานเนื้อหมูได้หรือไม่ รวมทั้งจะมีวิธีสังเกตและเลือกเนื้อหมูอย่างไรให้ปลอดภัย

ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ฝีและหนองในเนื้อหมู เกิดจากการที่ร่างกายมีแผลและมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในบาดแผล หลังจากนั้นมีการทำปฏิกิริยาภายในร่างกาย โดยเม็ดเลือดขาวจะเข้าไปต่อสู้กับเชื้อโรค จนกระทั่งมีการตายเกิดขึ้น ซากของเม็ดเลือดขาวหรือจุลินทรีย์เหล่านั้นก็จะเกิดเป็นหนองขึ้น ในขณะเดียวกัน ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อเส้นใย (fibrous tissue) เข้ามาห่อหุ้มหนองเหล่านั้นเพื่อจำกัดบริเวณไม่ให้เชื้ออันตรายเหล่านั้นกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกาย สุดท้ายจึงกลายเป็นถุงฝีหนองที่แทรกในกล้ามเนื้อนั่นเอง ก้อนฝีหนองที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความสะอาดของผิวหนังสุกรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดยาหรือวัคซีน วิธีการและตำแหน่งที่ฉีด รวมถึงความสะอาดของโรงเรือน เป็นต้น

สำหรับความกังวลใจว่าจะติดต่อสู่คนหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฝีหนอง ไม่ใช่ “โรค” จึงไม่ติดต่อระหว่างสัตว์ด้วยกัน และไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คนด้วย แต่หากเผลอรับประทานส่วนนั้นเข้าไป ก็อาจส่งผลต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านทางเดินอาหาร เช่นท้องเสีย ท้องร่วงได้ หากบังเอิญพบฝีหนองในเนื้อหมู แม้ว่าโอกาสจะต่ำมากก็ตาม ก็สามารถตัดส่วนนั้นทิ้ง ส่วนอื่นก็ยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้ หรือหากเนื้อหมูชิ้นนั้นมีขนาดไม่ใหญ่นัก ก็ทิ้งไปทั้งชิ้นจะปลอดภัยกว่า


เพื่อป้องกันการเกิดฝีหนองในเนื้อสุกร จึงควรมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงชำแหละที่ได้มาตรฐาน ผ่านการควบคุมและรับรองโดยกรมปศุสัตว์ บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เลี้ยง ผู้ฉีดยา/วัคซีน รวมทั้งเกษตรกร ควรได้รับการอบรมโดยสัตวแพทย์เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเลี้ยงจนถึงการดูแลรักษาเบื้องต้น

อย่างไรก็ดี การเลือกซื้อเนื้อหมูอย่างถูกวิธีก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งขายที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ และควรสังเกตความสดของเนื้อหมู ซึ่งลักษณะของเนื้อหมูที่ดีต้องมีสีชมพูเรื่อๆ ออกสีแดงตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็น มีความเงาๆ ไม่แห้งกระด้าง แต่ต้องไม่มีเมือกเหนียวคลุม รวมถึงไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู ซึ่งเป็นลักษณะของตัวอ่อนของพยาธิตืดแทรกในเนื้อ และที่สำคัญควรเก็บรักษาในที่เย็นด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมทันทีหลังจากซื้อ




กำลังโหลดความคิดเห็น