ชาวใต้เดือดร้อน ชี้ รฟท.งดบริการรถด่วนหลายเส้นทางต่อไปถึง 31 ก.ค.ไม่ดูความต้องการจริงของประชาชน อ้างคนน้อยงดไว้ก่อน แนะคิดนอกกรอบ ปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และฟังความเห็นประชาชนบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ออกประกาศขยายเวลางดให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) ขบวนรถเชิงสังคม (รถระยะสั้น) จำนวน 121 ขบวน ออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ออกไป 31 กรกฎาคม 2564 โดยระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีนโยบายขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยง หรือชะลอการเดินทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และได้มีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2564 นั้น
พบว่าการงดเดินรถในหลายเส้นทางได้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง โดยเฉพาะเส้นทางสายใต้ หลายเส้นทาง เช่น ขบวนรถด่วน กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ ไป/กลับ (ขบวน 31 และขบวน 32) รถด่วน กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ไป/กลับ (ขบวน 37 และขบวน 38)
แหล่งข่าวกล่าวว่า มีประชาชนที่ต้องการเดินทางได้รับผลกระทบเพราะตอนนี้ รฟท.งดรถด่วน แต่มีวิ่งเฉพาะรถเร็ว ซึ่งแง่ของประชาชนผู้ใช้บริการในภาวะที่มีโรคโควิดระบาดในตอนนี้จะเดินทางเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งเส้นทางสายใต้ต้องใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมง การมีบริการรถชั้น 1 ที่มีห้องแยกเฉพาะจึงเป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารลดความเสี่ยงในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่แคบๆ จึงอยากให้มีบริการรถด่วนมากกว่ารถเร็ว
การที่ รฟท.ให้เหตุผลว่าการงดเดินรถในเส้นทางไหนนั้นคำนึงถึงความเหมาะสมในการให้บริการแก่ประชาชน โดยพิจารณางดเดินขบวนรถเฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการน้อยและไม่ได้วิ่งให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน และยังคงมีขบวนรถโดยสาร ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) ขบวนรถเชิงสังคม (รถระยะสั้น) มากถึงจำนวน 115 ขบวน ให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอทุกเส้นทางนั้น หากใช้หลักการตลาด งดเส้นทางผู้โดยสารน้อย รฟท.คงต้องงดเดินหมดทุกขบวน เพราะตอนนี้การเดินทางน้อยมากจากสถานการณ์โควิด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในพื้นที่ทั้งประชาชน หอการค้า เคยมีการร้องเรียนไปที่รฟท.แล้วแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย รฟท.ยังคงคิดแบบเดิมๆ ขณะที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่มีการงดเดินรถเมื่อเดือนเมษายน 2564 แล้ว และคาดว่าวันที่ 1 มิถุนายนจะได้เดินทาง แต่รฟท.ประกาศขยายการงดเดินรถต่อไปอีก 2 เดือน ซึ่งในการบริหาร หากจะยุบรวมขบวนรถก็สามารปรับบริการได้ เช่น ใช้เป็นขบวนรถด่วนที่มีชั้น 1 บริการ แต่วิ่งแบบรถเร็ว จอดทุกสถานี ซึ่งหาก รฟท.จะทำก็สามารถทำได้เพราะเป็นช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่ใช่คิดในกรอบเดิมๆ ไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้ เส้นทางสายใต้โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน การเดินรถไฟเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และความเชื่อมั่นของพื้นที่และฝ่ายความมั่นคงด้วย ขอให้ผู้บริหาร รฟท.พิจารณาเหตุผลในการจะงดเดินรถให้รอบคอบมากกว่านี้