เปิดผลสำรวจความเห็น CEO ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่าผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่มากกว่ารอบแรก จากความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยผลสำรวจส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยเฉพาะลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30% ลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และพื้นที่เช่าโรงงาน 50% เป็นต้น
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 6 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจ SME” จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 170 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อ SME มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 คิดเป็น 89.4% รองลงมามองว่าได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับปี 2563 และน้อยกว่าปี 2563 คิดเป็น 5.3% และ 4.1% ตามลำดับ
ส่วนของมุมมองเรื่องผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ SME จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงในเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็น 91.2% รองลงมาเป็นเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจจากการหยุดกิจการ คิดเป็น 74.1% และเรื่องความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง รวมถึงการชะลอการรับสินค้า คิดเป็น 67.1%
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME ของภาครัฐในปัจจุบัน ที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของ SME ได้ 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น คนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นต้น คิดเป็น 71.2% รองลงมาเป็นมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝั่งละ 2.5% เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็น 64.7% และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 61.8%
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่าภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME เพิ่มเติมเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค 30% คิดเป็นสัดส่วน 59.4% รองลงมาเป็นการลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการและค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า พื้นที่เช่าโรงงาน 50% โดยผู้ให้เช่าสามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไปได้ 55.3% ถัดไปเป็นการขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษี VAT และเร่งคืนเงินภาษี VAT ให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่ส่งออกภายใน 15 วัน และการอนุญาตให้นิติบุคคลที่เป็น SME เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ มีคะแนนเท่ากัน 53.5%
ทั้งนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ว่าควรนำเงินดังกล่าวไปใช้ในเรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 74.1% รองลงมาเป็นการช่วยเหลือ เยียวยาให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 70.6% และแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 คิดเป็น 65.9% ขณะที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังได้ประเมินว่า จากแผนการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจะสามารถช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงใด โดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2565 คิดเป็น 37.1% รองลงมาเป็นช่วงปลายปี 2565 คิดเป็น 23.5% อีกทั้งมองว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 21.8 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564 คิดเป็น 17.6%