“สุริยะ” เร่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์กว่า 100 ราย ภายในปี 2564 ผ่าน 4 มาตรการเร่งด่วน หวังเป็นกลไกช่วยสนับสนุนไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ทั้งปัจจุบันและอนาคต
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระยะยาวของทางกระทรวงที่ต้องการยกระดับศักยภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เครื่องมือและการให้บริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล ซึ่งปี 2564 ดีพร้อมได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์อีกกว่า 100 ราย จากระยะปี 2559-2563 สามารถยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์รวมแล้วกว่า 400 ราย
“ที่ผ่านมาดีพร้อมได้มีการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไปสู่ระดับสากลแล้ว อาทิ การพัฒนาชุดอุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่องสำหรับหน้ากากชนิดครอบเต็มใบหน้า บริษัท ทีเอ็มดีดี จำกัด โดยทาง ดีพร้อมได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวัสดุในการผลิต ระบบในการปรับอัตราการไหลของอากาศ แบตเตอรี่ในการใช้งาน และการใช้งานร่วมกับชุดกรองเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ฯลฯ และจะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยทำให้มีความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้นจึงต้องการให้สนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อเป็นอีกกลไกหลักในการทำให้ไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้” นายสุริยะกล่าว
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อม (DIPROM) ได้ปรับแผนและรูปแบบการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของงบประมาณประจำปี 2564 สร้างความพร้อมในการเป็นรากฐานที่สำคัญรองรับต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันและอนาคต ด้วยการผลักดันให้เกิดความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ผ่าน 4 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1. การส่งเสริมด้านบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีความพร้อมและองค์ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎระเบียบและข้อบังคับของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
2. การส่งเสริมด้านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ เป็นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI และ IoT รวมถึงในกลุ่มของการบำบัดฟื้นฟู วินิจฉัย และการรักษา โดยต้นแบบผลิตภัณฑ์ 25% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมนั้นจะครอบคลุมทั้งในด้านของการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น
3. การส่งเสริมสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ การปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถที่จะลดต้นทุน ลดของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต รวมถึงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการใช้งานในปัจจุบัน อีกทั้งส่งเสริมในเรื่องการวางแผนการตลาด เพิ่มมูลค่า และยอดขายอีกครั้ง
4. การส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้รวมถึงวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างและรวบข้อมูลเครือข่ายหน่วยทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ให้เกิดความพร้อมทุกมิติ อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน