แม้ว่าโรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) หรือเพิร์ส จะไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการเลี้ยงสุกร แต่โรคนี้กำลังระบาดในหลายพื้นที่ของไทย และจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง หากไม่มีการควบคุมและป้องกันโรคที่ดีพอ
เพิร์สเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดขึ้น “เฉพาะเจาะจงในสุกรเท่านั้น” และ “ไม่สามารถติดต่อหรือเป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่นได้” ผู้บริโภคจึงสบายใจได้ว่าเนื้อสุกรที่รับประทานนั้นปลอดภัย ขอเพียงเลือกซื้อจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ได้เนื้อสุกรที่ได้มาตรฐาน สดใหม่ สะอาด และต้องผ่านการปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิร้อนจัด เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายจาก โรคในสุกร
ส่วนการติดต่อและแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มสุกร จะเกิดขึ้นผ่าน การหายใจ สารคัดหลั่งและการสัมผัสสุกรป่วยโดยตรง ผ่านทางอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในฟาร์ม รวมถึงผ่านทางการผสมพันธุ์ในฝูงพ่อแม่พันธุ์ และปนเปื้อนไปกับยานพาหนะในขั้นตอนการขนส่งสุกรหรือซากสุกร โดยแม่สุกรจะแสดงอาการทางระบบสืบพันธุ์ อาทิ อัตราการผสมติดต่ำ แท้งลูกในช่วงท้ายของการอุ้มท้อง ลูกสุกรตายแรกคลอดมากผิดปกติ ส่วนลูกสุกรหย่านมจะแสดงอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ สุกรป่วยมีไข้ นอนสุมกัน ตัวแดง ไม่กินอาหาร อ่อนแอ ท้องเสีย เลี้ยงไม่โต แคระแกร็น และอัตราเสียหายระหว่างการเลี้ยงสูงมาก
สำหรับการป้องกันโรคนี้ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มและสุขาภิบาลที่ดี เน้นความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และดูแลฝูงสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเฉพาะการดูแลด้านการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี เน้นการล้างทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมคอกเลี้ยง สำหรับการเข้าเลี้ยงฝูงสุกรใหม่ทุกชุด เลือกซื้อสุกรที่จะนำเข้าเลี้ยงจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และควรกักสุกรอย่างน้อย 30 วัน ก่อนนำเข้ารวมฝูง คนงานในฟาร์มต้องไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก เตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อหน้าโรงโรงเรือนพร้อมรองเท้าเปลี่ยนใช้สำหรับภายในโรงเลี้ยงเท่านั้น
ในฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อย หรือฟาร์มที่เลี้ยงสุกรหลังบ้าน ยิ่งต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องการให้อาหารสุกร โดยต้องงดใช้อาหารที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือหากถ้าจำเป็นต้องให้ อาหารสำหรับสุกรต้องมีการจนเดือดจัด เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆที่อาจปนเปื้อนมาได้ ถือเป็นการลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ โรงเรือนจะต้องมีหลังคาป้องกันฝน ลม ละอองฝน พร้อมทั้งจัดเตรียมน้ำสะอาด วิตามิน รวมถึงเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง
หากพบความผิดปกติของสัตว์ในฝูง ดังเช่นที่กล่าวข้างต้น เกษตรกรต้องร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรค โดยไม่นำสุกรป่วยหรือตาย ออกจำหน่ายอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาดออกไปสร้างความเสียหายให้กับฝูงสัตว์อื่น ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ ให้เข้าตรวจสอบและดำเนินการควบคุมโรคอย่างทันท่วงที
ข้อสำคัญที่สุดที่ถือเป็นจุดอ่อนของฟาร์ม คือขั้นตอนการขนย้ายสุกร ทั้งขณะที่นำเข้าสุกรฝูงใหม่ ซึ่งรถขนส่งสุกรต้องได้รับการล้างและฆ่าเชื้ออย่างดีก่อนเข้าบริเวณฟาร์ม รวมถึงการจำหน่ายสุกร ที่มักเปิดโอกาสให้รถขนสุกรของผู้รับซื้อเข้ามารับสุกรถึงในฟาร์ม เกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยลงทุนจัดทำจุดรับ-ส่งสุกรให้ห่างจากบริเวณพื้นที่เลี้ยงมากที่สุด และต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีการจับสุกรขาย
วันนี้ PRRS ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่คนเลี้ยงสุกรต้องเผชิญร่วมกัน เชื่อว่าด้วยความร่วมมือ จริงจัง และจริงใจในการร่วมกันแก้ปัญหา และความเข้มแข็งของทุกคนในวงการสุกร ย่อมทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ส่วนผู้บริโภคก็อย่ากังวล เพราะ PRRS ไม่มีผลกระทบใดๆ ยังคงรับประทานเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย เน้นสุขอนามัยที่ดี กินร้อน ปรุงสุกเสมอ เท่านี้ก็ป้องกันทุกๆโรคได้แน่นอน
บทความโดย อ.น.สพ.ดร.นิติพงศ์ หอมวงษ์ อาจารย์ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์