สอน. มั่นใจปรับแผนอ้อยไฟไหม้เหลือศูนย์ออกไปเป็นปี 2566/67 จากแผนเดิมกำหนดไว้ปี 2564/65 จะเหลือ 0-5% เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์จริงหลังโควิด-19 กระทบการขาดแคลนแรงงาน พร้อมเร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดปลายมิ.ย.นี้ ด้านชาวไร่อ้อยหนุนปรับแผนอ้อยสดเพื่อให้เวลาชาวไร่ปรับตัวหลัง
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ปรับแผนการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกระทบการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ไทยต้องอาศัยในการตัดอ้อยจึงปรับแผนเป็นฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 10% ของการผลิตรวม ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 พ.ค.ได้รับทราบแผนงานดังกล่าวแล้ว
“สาเหตุที่เราต้องปรับใหม่เพราะแผนเดิมกำหนดไว้ในฤดูหีบปี 2564/65 ที่จะเปิดหีบในปลายปีนี้จะต้องเหลืออ้อยไฟไหม้ 5-0% ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วที่เราดำเนินการมา 2 ฤดูหีบยอมรับว่ายังห่างจากเป้าหมายเล็กน้อยโดยล่าสุดปี 63/64 เป้าต้องมีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 20% พบว่า อยู่ที่ 26.42% ซึ่งชาวไร่และโรงงานก็ทำเต็มที่แล้วซึ่งปกติการตัดอ้อยไทยต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวยิ่งตัดอ้อยสดยิ่งต้องใช้แรงงานมากแต่ผลกระทบโควิด-19ทำให้แรงงานเข้ามาไม่ได้ ประกอบกับการอาศัยเครื่องจักรก็ต้องลงทุนสูงจึงต้องให้เวลาชาวไร่อ้อยปรับตัว” นายเอกภัทร กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวจะดำเนินการควบคู่ไปกับการหักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท, กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด, จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด, ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก และ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร
สำหรับการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อสนับสนุนการตัดอ้อยสดตันละ 120 บาทฤดูการผลิตปี 2563/64 ตามมติ ครม.11 พ.ค.ที่อนุมัติวงเงิน 6,056 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินได้ปลายเดือน มิ.ย.นี้
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยที่ผ่านมาได้พยายามร่วมมือกับรัฐในการลดอ้อยไฟไหม้แบบเต็มที่แล้วแต่อุปสรรคที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่าการตัดอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงเพราะตัดยาก ขณะเดียวกัน กำลังแรงงานเดิมของไทยไม่เพียงพอต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลักแต่โควิด-19 ที่ระบาดช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กระทบให้การนำเข้าแรงงานเข้ามาอย่างมาก แม้ว่าในระบบจะมีรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นแต่หากเทียบกับอ้อยที่มีก็ยังไม่เพียงพอ
“ถือเป็นเรื่องที่ชาวไร่อ้อยเองก็เห็นสอดคล้องกับรัฐที่จำเป็นต้องให้ชาวไร่อ้อยปรับตัวโดยเฉพาะรายย่อยที่มีทุนต่ำและเห็นว่าเรื่องนี้ก็จะเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการตัดอ้อยสดด้วย แต่ทั้งนี้ ภาพรวมราคาอ้อยก็เป็นสิ่งสำคัญในระยะต่อๆ ไป” นายนราธิปกล่าว