xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.เผยไตรมาสแรกปีนี้โควิด-19 ฉุดยอดการใช้น้ำมัน-ไฟฟ้าดิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนพ.เผยไตรมาสแรกของปี 2564 การใช้พลังงานภาพรวมทั้งน้ำมันภาคขนส่งและไฟฟ้ายังคงลดลงจากผลกระทบโควิด-19 โดยการใช้น้ำมันภาคขนส่งลด 4% ไฟฟ้าลดลง 5.2% ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถ EV พุ่ง 46% พร้อมเกาะติดผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ใกล้ชิดหลังสัญญาณการใช้ของเดือน มี.ค.ทั้งดีเซล และไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางปรับขึ้นส่งผลให้การใช้น้ำมันภาคขนส่งลดลง 4% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 5.2% ทั้งนี้ การใช้พลังงานภาพรวม สนพ.ยังคงต้องจับตาผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด เช่น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีน เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกไตรมาสแรกอยู่ที่ 6,475 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกลดลงในทุกกลุ่มเชื้อเพลิง (ไม่รวมไฟฟ้า) ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีรถจดทะเบียนสะสมที่อยู่ในระบบทั้งสิ้นประมาณ 41.7 ล้านคัน โดยมีรถจดทะเบียนใหม่สะสมของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 7.6 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1% น้ำมันกลุ่มดีเซล มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 61% แต่การใช้ลดลง 1.7% น้ำมันกลุ่มเบนซิน มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 32% แต่การใช้ลดลง 1.3%
      
“การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวซึ่งคงต้องติดตามใกล้ชิดในเดือน เม.ย.ที่มีโควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่อีกครั้ง” นายวัฒนพงษ์กล่าว

ส่วน NGV มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 4% ลดลงถึง 31.7% และ LPG มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 3% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก การใช้ลดลงถึง 22.4% (จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) นอกจากนี้ มีการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ 6,849 คัน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 419 คัน ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 46% ส่วนราคาขายปลีกไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.64 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV


สำหรับการใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 44,759 GWh ลดลง 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ไฟฟ้าลดลงทุกกลุ่มสาขา ยกเว้นเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งการใช้ไฟฟ้าในทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 47% ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 17.6% จากเดือนก่อนหน้า

สาขาธุรกิจมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% การใช้ลดลง 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 26% การใช้ลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ของเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 26.2% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าและสภาพอากาศที่ร้อนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลงจากปัจจัยที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการกระจายวัคซีนในหลายประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น