บวท.เผยโควิดระลอก 3 ฉุดปริมาณเที่ยวบินลดฮวบ ปรับเป้าปี 64 เหลือ 3.2 แสนเที่ยวบิน ลดลง 38% จากคาดการณ์เดิมที่ 5.18 แสนเที่ยวบิน คาดเริ่มฟื้นตัว มิ.ย. หลัง กพท.ผ่อนคลายมาตรการ และ ส.ค.ขยับเกิน 1,000 เที่ยวบิน/วัน
นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ปฏิบัติการ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณเที่ยวบิน โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนเมษายน 2564 มีปริมาณเที่ยวบินคงที่ แต่ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์ พบว่าปริมาณเที่ยวบินลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. อัตราการพบผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้เที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศลดลง และ 2. มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่งผลให้เที่ยวบินในประเทศลดลง
จากสถานการณ์ดังกล่าว บวท.ได้วิเคราะห์ผลกระทบของปริมาณเที่ยวบินว่าจะมีความรุนแรงเพียง 3 เดือน คือ เดือนมกราคม 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 2 และเดือนเมษายน กับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 นี้ โดยหลังจากนั้นจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน 2564 จากการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการทำการบิน รวมถึงการจัดหาวัคซีนและกระจายฉีดวัคซีนได้ตามแผนของภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศตามแผนที่วางไว้ในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งคาดว่าปริมาณเที่ยวบินก็จะเริ่มกลับมาดีขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 โดยเฉลี่ยวันละ 1,095 เที่ยวบิน ซึ่งเป็นตัวเลขเท่ากับช่วงเดือนธันวาคม 2563 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 โดยคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินประจำปีงบประมาณ 2564 (ระหว่างตุลาคม 2563-กันยายน 2564) ไว้ที่ 323,093 เที่ยวบิน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 518,790 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 38
อย่างไรก็ตาม ปริมาณเที่ยวบินและภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการจัดหาวัคซีน รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการบินของ กพท. ซึ่งหากไม่สามารถเปิดประเทศได้ตามแผนในเดือนกรกฎาคม 2564 หรือหากมีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลต่อปริมาณเที่ยวบินและการเดินทางในภาพรวม โดย บวท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและทบทวนตัวเลขปริมาณเที่ยวบินอีกครั้งตามสถานการณ์
ทั้งนี้ หากทุกคนร่วมมือกันดูแลรักษาสุขภาพและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามหลักของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปในสถานที่แออัด และรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ ก็จะช่วยทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม