xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแอร์เอเชียปรับโครงสร้างขาย IPO-ตุน 6 พันล้านเสริมแกร่ง ตั้งเป้าปี 65 เปิดบิน ตปท.ฟื้นกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยแอร์เอเชียปรับโครงสร้างใหม่ เข้าตลาดขาย IPO ดึงผู้ลงทุนใหม่ ตุนเม็ดเงิน 6 พันล้านบาทเสริมแกร่งสู้วิกฤตอย่างน้อย 3 ปี โควิดยืดเยื้อ ต้องรัดเข็มขัดคุมรายจ่าย คาดปี 65 เปิดบินระหว่างประเทศ ฟื้นมีกำไร

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งล่าสุดเกิดระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ทำให้สายการบินต้องปรับตัวทั้งด้านการบริหารจัดการต้นทุนและรายได้ ซึ่งล่าสุดบริษัทฯ ได้กำหนดแผนการปรับโครงสร้างกิจการใหม่ โดยจะมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามา รวมถึงการนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทน AAV และเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) 

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างกิจการครั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียจะได้เงินทุนรวมทั้งสิ้น 5,907 ล้านบาท (ไม่รวม ESOP ซึ่งเป็นการออกและเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของไทยแอร์เอเชีย) ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์เอเชียมีทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี พร้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแข็งแกร่งพร้อมในการเปิดทำการบินในประเทศ ซึ่งหากบินเต็มที่จะเป็นจุดคุ้มทุน จะเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งจะทำให้บริษัทกลับมามีกำไร โดยจะใช้โอกาสใน 2-3 ปีเร่งการเติบโตเพราะเชื่อว่าหลายสายการบินยังทำการบินไม่ได้เต็มที่

จากที่มีโควิดระลอก 3 บริษัทมีการปรับลดเที่ยวบินและใช้เครื่องบินลดลงจากช่วงก่อนหน้า 40 ลำ เหลือ 15 ลำ หรือลดลง 60% ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์การเดินทางและการประกาศพื้นที่สีแดงทำให้มีการชะลอการเดินทาง ซึ่งผู้โดยสารแต่ละเที่ยวบินมีเฉลี่ย 60-70 คน ซึ่งตามแผนปีนี้จะมีตารางการคืน 6 ลำและสิ้นปีจะเหลือ 54 ลำ ซึ่งถือว่าเพียงพอในการใช้งานอีก 2-3 ปี กรณีบินเส้นทางในประเทศเต็มที่ รวมไปถึงเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ โดยจะใช้งานราว 12-13 ชั่วโมง/วัน ขณะที่การหาเครื่องบินเพิ่มจะทำได้ง่ายเพราะหลังจากนี้เครื่องบินจะมีล้นความต้องการ

อีกทั้งบริษัทฯ ได้ตั้งกรอบค่าใช้จ่ายไม่เกิน 200 ล้านบาท/เดือน โดยมีการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับกระแสเงินสด จัดสรรพนักงานทำงานเต็มเวลาให้สอดคล้องกับจำนวนเครื่องบิน ส่วนที่เหลือจะเป็นการสมัครใจหยุดงานซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งประเมินผลประกอบการปี 2564 จะดีขึ้น และปี 2565 หากเปิดเส้นทางระหว่างประเทศได้จะเป็นส่วนที่ทำกำไรกลับมา

สำหรับเเผนระยะสั้น ไทยแอร์เอเชียจะได้รับสินเชื่อจากนักลงทุนรายใหม่ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ปลอดดอกเบี้ย มูลค่าไม่เกิน 3,150 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกิจการ และเจรจารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนพ.ค. 2564 และได้รับเงินลุงทุนส่วนนี้ประมาณปลายเดือน มิ.ย. โดยหลังจากนี้นักลงทุนจะสามารถแปลงสภาพสัญญาหุ้นกู้นี้เป็นหุ้นสามัญของไทยแอร์เอเชีย ภายหลังจากที่นำเเผนเข้าหารือและได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนแทน AAV ซึ่งจะเสนอขายหุ้น IPO อีกราว 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการประมาณต้นปี 2565

เหตุผลในการนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน AAV นั้น เป็นเรื่องที่ต้องการทำแต่ก่อนหน้านี้ทำไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้องเป็นคนไทย แต่เมื่อต้นปี 64 กฎหมายให้กองทุนเข้ามาถือหุ้นได้แล้ว นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งบริษัทปฏิบัติการโดยตรงจะสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้ถือหุ้นตรง ดีกว่า AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย 55% ไม่ได้มูลค่าตลาดเต็มของไทยแอร์เอเชีย แต่เมื่อเป็นไทยแอร์เอเชียจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มมากขึ้น

“แนวทางนี้มีต้นทุนการเงินที่ถูก กระทบผู้ถือหุ้นน้อย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาใช้ดำเนินงานอีกอย่างน้อย 3 ปี ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนักลงทุนใหม่ และผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มทุน (Dilution Effect) ครั้งนี้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการระดมทุนรูปแบบอื่นๆ ส่วนนักลงทุนใหม่เป็นบุคคลที่รู้จักสนิทกัน และไม่ได้อยู่ในธุรกิจการบิน แต่มองเห็นว่าบริษัทไม่ได้แย่ และราคาเหมาะสมกับการลงทุนและสามารถทำกำไรได้” นายธรรศพลฐ์กล่าว

หลังปรับโครงสร้างกิจการ และหลังการเพิ่มทุนจะทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นไทยแอร์เอเชียเปลี่ยนเป็น กลุ่มทุนใหม่ 11% บริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด จากมาเลเซีย คงสัดส่วน 45% ผู้ถือหุ้นเดิม AAV สัดส่วน 24% (จากการแปลงหุ้น AAV สัดส่วน 59%) และส่วนที่เตรียมจะเสนอขาย IPO โดยคาดว่าราคาเสนอขาย IPO จะเท่ากับราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 20.3925 บาทต่อหุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น