ผู้จัดการรายวัน 360 -“ฟู่ฟู่” ปรับกลยุทธ์รุกตลาดชาบูท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ดันแบรนด์ลูก “ฟู่ฟู่ มายด์” เป็นหัวหอกตอบรับนิวนอร์มัล หลังสาขาแรกทดลองได้ผลดี พร้อมลุยโซนซูเปอร์มาร์เกตในร้านขยายตลาดลูกค้าซื้อวัตถุดิบไปรับประทานที่บ้านด้วย
นายชนัตย์ สุทธิวารีพงษ์ กรรมการบริหาร บริษัท ฟู่ฟู่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายธุรกิจชาบูไต้หวันในส่วนของแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า “ฟู่ฟู่ มายด์” (Fu Fu Mind) ที่เป็นแบรนด์ลูกของ ฟู่ฟู่ ไต้หวันนีส ชาบู (FUFU TAIWANESE SHABU) ที่เป็นแบรนด์เดิม ทั้งนี้ หลังจากที่เปิดทดลองร้านฟู่ฟู่ มายด์เมื่อไม่นานนี้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก เปิดสาขาแรกที่ปั๊มเชลล์บางใหญ่นนทบุรี พื้นที่ 100 ตารางเมตร ลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดให้ได้ 10 สาขาในช่วง 2 ปีนี้ ลงทุนสาขาละประมาณ 3 ล้านบาท รวม 30 ล้านบาท
เนื่องจากลงทุนไม่มากและใช้พื้นที่ไม่มาก จึงมีความคล่องตัวในการเปิดบริการ อีกท้้งสามารถตอบรับกับยุคนิวนอร์มัลหรือวิถีชีวิตปกติใหม่ที่ต้องรักษาระยะห่างและต้องการความเป็นส่วนตัวในการรับประทานอาหารมากขึ้น และต้องการความเร่งรีบและมีความสะดวกมากขึ้น
โดยฟูู่ฟู่มายด์นี้จะเป็นร้านชาบูในรูปแบบอะลาคาร์ต (A La Carte) ตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มัลที่มีคอนเซ็ปต์สะดวก ง่ายและรวดเร็วในรูปแบบชาบูหม้อเดี่ยวมีให้เลือกได้ถึง 2 ซุปในหม้อเดียว มีมากกว่า 50 เมนู เป็นชุด ชุดหมู ราคา 259 บาท ชุดเนื้อ 269 บาท และชุดรวมราคา 319 บาท ไม่ได้เป็นบุฟเฟต์แบบเดิม นอกจากนั้นก็มีอาหารจานเดี่ยวบริการ เช่น ข้าวหน้าเนื้อวากิว (ไซส์ M ราคา 129 บาท/ L ราคา 158 บาท) บะหมี่หมูตุ๋นไต้หวัน (ไซส์ M ราคา 79 บาท) เมนูกวาเปาเนื้อฮั่นเปา หรือเบอร์เกอร์ไต้หวัน ราคา 79 บาท เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการเปิดบริการส่วนที่เป็นซูเปอร์มาร์เกตอีกด้วย เรียกว่า ฟู่ฟู่มายด์ เฟรช มาร์ท คือการบริการให้ลูกค้าที่สนใจซื้อวัตถุดิบที่เป็นอาหาร เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ต่างๆ กลับไปทำชาบูรับประทานที่บ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้และโอกาสในการรับประทานของผู้บริโภคอีกด้วย โดยที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากช่องทางซูเปอร์มาร์เกตมีประมาณ 30% ของสาขานี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนซูเปอร์มาร์เกตนี้อาจจะไม่มีในฟู่ฟู่มายด์ทุกสาขา ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และความเหมาะสมในย่านนั้นๆ
สำหรับแบรนด์หลักเดิมคือ ฟู่ฟู่ ไต้หวันนีส ชาบู ที่ผ่านมาก็ต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาดอย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนักเหมือนธุรกิจอื่นทั่วไป อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย คือ มีการรับประทานอาหารที่บ้านหรือดีลิเวอรีมากขึ้น การรับประทานที่ร้านน้อยลง แม้ว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริการชาบูดีลิเวอรีราคาชุดเล็กเริ่ม 399 บาท ร่วมกับพันธมิตร เช่น ไลน์แมน แกร็บ โกเจ็ค โรบินฟู้ด ทรูฟู้ด เป็นต้น หรือแม้แต่การเปิดฟู่ฟู่มายด์ก็เป็นการปรับตัวอีกทางหนึ่งเช่นกัน
“สิ่งที่เราต้องปรับตัวอย่างมากคือ การใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาดึงดูดคือการแยกระดับราคามากขึ้นเพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายจากเดิมที่มีราคาเดียว และการเพิ่มเมนูใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ซึ่งแต่เดิมมีกว่า 80 เมนู ก็เพิ่มเป็นมากกว่า 100 เมนู ซึ่งบางเมนูก็อาจจะไม่มีที่ร้านอื่น และยังจะมีบริการใหม่ๆ เข้ามาด้วย เช่น ร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาเมนูเฉพาะที่ฟู่ฟู่ให้กับลูกค้า รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้านความปลอดภัยจากมาตรการป้องกันโควิด และคุณภาพของวัตถุดิบอาหารต่างๆ ที่นำมาบริการให้แก่ลูกค้า ซึ่งเรามีนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย” นายชนัตย์กล่าว
ขณะนี้มี 3 ระดับราคา คือ ปกติ 499++ บาท รับประทานได้ 1 ชั่วโมง 45 นาที, ฟู่ฟู่บลูโอเชียน ราคา 699++ บาท รับประทานได้ 1 ชั่วโมง 45 นาที และฟู่ฟู่มิราเคิล ราคา 999 ++ รับประทานได้ 2 ชั่วโมง ซึ่งประเภทของเมนูอาหารชาบูก็จะแตกต่างกันตามระดับราคา
“หลังจากที่เราเพิ่มเมนู ปรับราคาหลากหลาย ทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มด้วย เช่น กลุ่มนักศึกษา จากเดิมที่เราเป็นกลุุ่มออฟฟิศเป็นหลัก ทำให้ตอนนี้ลูกค้าที่บริโภคระดับราคา 499++ สัดส่วน 50%, ระดับราคา 699++ บาท สัดส่วน 40% และราคา 999++ บาท สัดส่วน 10% โดยแบ่งเป็นกลุ่มออฟฟิศ 70%, กลุ่มครอบครัว 25% และกลุ่มนักศึกษา 5%” นายชนัตย์กล่าว
ปัจจุบันแบรนด์หลัก ฟู่ฟู่ ไต้หวันนีส ชาบู เปิดบริการรวม 5 สาขา คือ พระรามสี่, ซอยอารีย์, จีทาวเวอร์พระรามเก้า, แฟชั่นไอส์แลนด์, เอ็มไพร์ทาวเวอร์ และอีก 1 จุดบริการคือ ราชพฤกษ์ ที่บริการเฉพาะดีลิเวอรีกับเทกอะเวย์เท่านั้น ท้้งนี้ การขยายสาขาของแบรนด์หลักเดิม คือ ฟู่ฟู่ไต้หวันนีสชาบู ยังคงมีอยู่แต่จะไม่เร่งขยายสาขามากนักเพราะใช้เงินทุนสูง และเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ แต่ก็จะมีการขยายสาขาหากได้พื้นที่ที่มีความเหมาะสม
“ตลาดชาบูหรือหม้อไฟในปัจจุบันแข่งขันกันรุนแรงมาก จากทั้งผู้ประกอบการรายเดิมที่ขยายสาขาและทำโปรโมชัน ประกอบกับมีแบรนด์ใหม่ๆ เล็กๆ เข้าสู่ตลาดต่อเนื่องจึงต้องเล่นกลยูุทธ์ราคากัน แต่ก็มีที่ล้มหายตายจากไปเยอะเหมือนกัน เพราะการทำตลาดบุฟเฟต์ชาบูนี้ไม่ง่ายต้องควบคุมต้นทุนให้ดี และมีเรื่องการบริหารสต๊อกวัตถุดิบ และที่สำคัญเรื่องรชาติด้วย”
ที่ผ่านมาก็เคยมีการเจรจากับผู้ที่สนใจจะซื้อแฟรนไชส์เช่นกัน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงทำให้ยังไม่ได้เร่งรีบเรื่องการขายแฟรนไชส์ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าปี 2564 นี้รายได้รวมน่าจะกลับมาดีขึ้นกว่าปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หรืออย่างน้อยเท่ากับปี 2562 ที่มีรายได้ประมาณ 100 กว่าล้านบาท เติบโต 30%