ผู้จัดการรายวัน 360 - “แสงชัยแอร์ควอลิตี้” ปั้นแบรนด์ตัวเอง “เอ็มแอนด์อี” (M&E) ลุยตลาดแอร์เคลื่อนที่ เครื่องทำน้ำร้อนน้ำอุ่น หวังรายได้ปีแรกที่ 40 ล้านบาท เสริมทัพหลังจากแบรนด์ฟากอร์เลิกธุรกิจแล้ว พร้อมเปิดแนวรบตลาดเครื่องฟอกอากาศรับโควิดระบาดหนักอีก ดันรายได้รวมบริษัททั้งปีนี้ที่ 350 ล้านบาท
นายบุญฤทธิ์ ฉันสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แสงชัย แอร์ ควอลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ บริษัทฯ จะเริ่มทำการตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ เอง คือแบรนด์ “เอ็มแอนด์อี” (M&E) เป็นสินค้ากลุ่มแอร์เคลื่อนที่ เครื่องทำน้ำร้อนนำอุ่น เป็นต้น ซึ่งการที่สร้างแบรนด์เองเข้ามาเสริมเนื่องจากสินค้าเดิมแบรนด์ฟากอร์จากสเปนที่เป็นเครื่องทำน้ำร้อนน้ำอุ่น ทางบริษัทแม่ที่สเปนได้เลิกธุรกิจนี้ไปแล้ว จึงทำให้ต้องเพิ่มแบรนด์ใหม่เข้ามาทดแทนในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ ควบคู่ไปกับการทำตลาดสินค้าแบรนด์เดิมที่บริษัทฯ เป็นดิสทริบิวเตอร์รายเดียวในไทยอยู่แล้ว
ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีสินค้าทำตลาดรวม 4 แบรนด์ คือ 1. แบรนด์บลูแอร์ เป็นเครื่องฟอกอากาศระดับพรีเมียมจากสวีเดน สัดส่วนรายได้หลัก 50%, 2. แบรนด์ซีเมนส์ สินค้าสวิตช์และปลั๊กไฟ เจาะตลาดอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์เป็นหลัก สัดส่วนรายได้ 30%, 3. แบรนด์ไดสัน สินค้าเครื่องเป่ามือ เจาะตลาดอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์เป็นหลัก สัดส่วนรายได้ 20%, 4. เอ็มแอนด์อี สัดส่วนรายได้ประมาณการจากแบรนด์ฟากอร์เดิมที่มี 10%
สำหรับแผนตลาดแบรนด์เอ็มแอนด์อีจะเน้นไปที่ช่องทางออฟไลน์เดิม คือ เครือเซ็นทรัล ร้านเพาเวอร์บาย ร้านบุญถาวร เป็นต้น รวมทั้งช่องทางออนไลน์ผ่านลาซาด้า ช้อปปี้ และเครือคิงเพาเวอร์ เป็นต้น เจาะตลาดระดับกลางถึงบน ในส่วนของแอร์เคลื่อนที่มี 2 ขนาด คือ ขนาด 10,000 บีทียู ราคา 12,000 บาท และขนาด 12,000 บีทียู ราคา 14,000 บาท ตั้งเป้าหมายยอดขายปีแรกนี้ไว้ที่ 1,000 ยูนิต ส่วนทั้งแบรนด์เอ็มแอนด์อีที่มีเครื่องทำน้ำร้อนน้ำอุ่นด้วยตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ที่ 40 ล้านบาท
นายบุญฤทธิ์กล่าวถึงตลาดรวมเครื่องฟอกอากาศด้วยว่า ปีที่แล้วตลาดรวมตกลงไม่ต่ำกว่า 20% จากมูลค่ารวมมากกว่า 1,500 ล้านบาท หรือปริมาณ 20,000 ยูนิต เนื่องจากกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดบนไม่กระทบมากนักเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายระดับบนยังมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ และยังเกิดความต้องการจากกรณีที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอีกด้วย จึงทำให้ตลาดกลุ่มบนยังมีการขายได้
ในส่วนของแบรนด์บลูแอร์ ปีที่แล้วยอดขายทรงตัวไม่ได้เติบโตมากเท่าใด แต่ปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขายบลูแอร์เติบโตมากถึง 50% ขณะที่ปี 2562 ที่ภาวะปกติมียอดขายบลูแอร์ 200 ล้านบาท และเติบโต 30% เนื่องจากว่าจะมีการออกสินค้ารุ่นใหม่ต่อเนื่องใน 2 ซีรีส์ โดยไตรมาสแรกนี้ออกรุ่นใหม่ด้วยนวัตกรรมเฮลท์โปรเทกต์ ( Health Protect) ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี GermShield ที่บลูแอร์คิดค้นขึ้นป้องกันเชื้อโรคตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แม้ว่าจะอยู่ในโหมดสแตนด์บาย และเทคโนโลยี SpiralAir ที่ส่งกระแสลมไป 360 องศา เพื่อให้อากาศหมุนเวียน โดยมี 2 ขนาด คือ ขนาดพื้นที่ 60 ตารางเมตร ราคา 36,000 บาท และขนาด 100 ตารางเมตร ราคา 53,900 บาท และในไตรมาสที่สามจะออกสินค้ารุ่นใหม่อีก
สำหรับช่องทางการจำหน่ายยังมีช่องทางออฟไลน์เหมือนเดิม เช่น เครือเซ็นทรัล เพาเวอร์บาย บุญถาวร เป็นต้น แต่ปีนี้จะหันมาเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เป็นต้น ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากออนไลน์ปีนี้ไว้ที่ 30% จากปีที่แล้วที่มีสัดส่วน 15% โดยงบการตลาดจะใช้ช่องทางออนไลน์ 100%
“แบรนด์ Blueair เป็นเครื่องฟอกอากาศจากสวีเดนที่มีโพสิชันชัดเจน เพราะโฟกัสกับการทำเครื่องฟอกอากาศเพียงอย่างเดียว ต่างจากคู่แข่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ทั่วไปที่มีการ OEM ผลิตภัณฑ์หลายชนิด ไม่โดดเด่นในผลิตภัณฑ์ชนิดใดเป็นพิเศษ และบลูแอร์ยังเป็นแบรนด์แรกที่นำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในผลิตภัณฑ์อีกด้วย”
นอกจากนี้ แสงชัยแอร์ฯ ยังสร้างทีม Service ที่แข็งแกร่ง กระจายให้บริการหลังการขายดูแลลูกค้าถึงบ้าน ซึ่งมีทีม Service รวมแล้วกว่า 10 ทีม โดยนอกจากบริการทั่วไปอย่างการซ่อมบำรุง หรือการตรวจเช็กสภาพผลิตภัณฑ์แล้ว ทีม Service ของ Blueair ยังเป็นแบรนด์เดียวที่มีการดูแลผู้บริโภคด้วยบริการทำความสะอาดฟรีถึงบ้านในเดือนที่ 6 หลังซื้อผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้บริการ call center แจ้งเตือนการเปลี่ยนไส้กรองทุก 1 ปี อีกทั้งสร้างโชว์รูมสำหรับบริการเครื่องฟอกอากาศ Blueair โดยเฉพาะ
“เรามีฐานลูกค้าของบลูแอร์ระดับบนมากกว่า 20,000 รายในปัจจุบันที่มีการซื้อซ้ำอยู่เรื่อยๆ และยังมีการแนะนำกันปากต่อปากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาบริษัทต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้ยอดการเติบโตตกลงไปเล็กน้อย ซึ่งในปี 64 นี้แสงชัยแอร์ฯ เริ่มลุยตลาดรอบใหม่ด้วยการเสริมทีม Service ให้แข็งแรงขึ้น ยกระดับนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศไปอีกขั้น ในช่วง Q2 และใช้เป็นอาวุธหลักในการพาคนไทยผ่านวิกฤต PM 2.5 รวมถึงช่วยให้บริษัทเพิ่มยอดขายขึ้น 50% หรือตั้งเป้ายอดขายบลูแอร์อยู่ที่ 150 ล้านบาท ส่วนทั้งปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมทุกแบรนด์ไว้ที่ 350 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 220 ล้านบาท” นายบุญฤทธิ์กล่าว