กรมรางแนะวิธีคิดค่าโดยสารสายสีเขียวถูก ไม่ควรนำภาระหนี้ก่อนปี 73 ที่จะมีสัมปทานใหม่มารวม จี้ กทม.ส่งข้อมูลนำมาบูรณาการอนาคต คิดค่าแรกเข้าครั้งเดียวภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ประชาชนได้ประโยชน์
นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ชี้แจงถึงกรณีมีการอ้างว่ากระทรวงคมนาคมเสนอแนะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีวิธีการคำนวณที่คลาดเคลื่อนนั้น เนื่องด้วยกรมราง พึงตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนต้องรับภาระดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นเสมือนโครงข่ายหลักผ่านใจกลางเมืองในย่านธุรกิจ
ทั้งนี้ กรมรางประสงค์ให้ทุกฝ่ายหันหน้าร่วมกันหารือเพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และการคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้บริการ โดยควรนำปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการ รายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อาทิ จำนวนผู้โดยสารในโครงข่าย รวมทั้งดัชนีที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดอัตราค่าโดยสารมาพิจารณาร่วมด้วย ไม่ควรพิจารณาจากข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว
กรมรางมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็น ดังนี้
1. ประเด็นภาระหนี้สินของ กทม. การนำภาระหนี้สินที่ กทม.แบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) และค่าระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ค่าจ้างเดินรถ รวมทั้งสิ้นกว่าแสนล้านบาท มาใช้ประกอบการคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ภายใต้สัญญาสัมปทานเอกชนในการเดินรถ 30 ปี ซึ่งเมื่อเอกชนรายใหม่จะเข้ามาดำเนินการปี 2573 โดยมีเงื่อนไขให้รับหนี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อนหน้านั้น ซึ่งก็คือหนี้ก่อนปี 2573 ได้แก่ ค่างานโยธา งานระบบ รถไฟฟ้า และค่าจัดกรรมสิทธิ์ หลังจากเอกชนเข้ามาดำเนินการจะไม่มีรายจ่ายค่าจ้างเดินรถ เนื่องจากการทำสัญญาในรูปแบบที่เอกชนรับรู้รายได้และความเสี่ยงทั้งหมดเป็นลักษณะสัญญาสัมปทานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งในช่วงปี 2573-2602 จะไม่ถือเป็นภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับ
ดังนั้น การคิดภาระหนี้จึงควรพิจารณาในส่วนที่จะต้องจ่ายถึงปี 2572 อีกทั้งภาระหนี้ของโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายที่รับจากกระทรวงคมนาคม กทม.ได้ยืนยันว่ามีความพร้อมทางการเงินที่สามารถรับภาระดังกล่าวได้ ดังนั้น ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารไม่ควรนำภาระหนี้สินมาพิจารณาเป็นปัจจัยสำคัญ ควรพิจารณารายได้ที่ก่อเกิดในการบริหารการเดินรถในพื้นที่ รวมทั้งปริมาณผู้โดยสารร่วมด้วย
2. ประเด็นรายได้ การคิดรายได้จากการบริหารการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรพิจารณาแยกช่วงปี 2564-2572 และช่วงปี 2573-2602 เนื่องด้วยการขยายสัมปทานสายสีเขียว 30 ปีเป็นช่วงภายหลังจากปี 2572 ดังนั้น รายได้ช่วงปี 2564-2572 จึงไม่ควรนำมาพิจารณา
กระทรวงคมนาคมจึงคิดรายได้ตั้งแต่ปี 2573-2602 เนื่องจากมีสมมติฐานว่ายกสัมปทานให้เอกชนรายใหม่ตั้งแต่ปี 2573 และเป็นสัญญาแบบ net cost ซึ่งเอกชนจะมีการจัดสรรรายได้ให้แก่ภาครัฐ ทั้งนี้ กรมรางมุ่งเน้นผลักดันให้การจัดสรรรายได้เกิดความเป็นธรรม โดยมีการจัดสรรทั้งรายได้ที่เก็บได้จากค่าโดยสาร และรายได้จากการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งรายได้ดังกล่าวที่เอกชนจัดสรรให้แก่ภาครัฐถือเป็นกองทุนเริ่มต้นอันสำคัญในการนำไปชดเชยค่าโดยสารให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต ทำให้มีค่าบริการที่ถูกลงทุกระดับสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้ อีกทั้งเมื่อลดค่าโดยสาร ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้รวมไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรายได้จากปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นจะชดเชยรายได้ที่สูญเสีย
3. ประเด็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมในอนาคต เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เพิ่มเติมในโครงข่ายการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม มิได้เป็นเพียงการกำหนดอัตราค่าโดยสารของสายใดสายหนึ่งแล้ว กระทรวงคมนาคม โดยกรมราง ได้ผลักดันนโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงในการเดินทางภายในโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเดินทางเชื่อมต่อกัน โดยให้มีอัตราสูงสุดที่ยกเว้นค่าแรกเข้า กรณีผู้ใช้บริการมีการเดินทางเปลี่ยนถ่ายระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าของผู้ให้บริการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะกี่เส้นทางก็ตาม ให้ผู้ใช้บริการเสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว และมีเพดานของอัตราค่าโดยสารสูงสุดในอัตราเดียวกัน
ด้วยยังไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสาร ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน กรมรางจึงเห็นสมควรให้ กทม.ให้ข้อมูลเพิ่มเติม อันก่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน หากได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้ว จะนำมาวิเคราะห์และชี้แจงถึงข้อเท็จจริงต่อประชาชนและสื่อมวลชนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยได้รับบริการสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในอนาคต หากพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ออกมามีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย กรมรางจะมีอำนาจโดยตรงที่จะเข้าไปกำกับดูแลในส่วนของการกำหนดและวางหลักเกณฑ์การคำนวณค่าโดยสาร ซึ่งจะทำให้กรมรางสามารถกำกับดูแลค่าโดยสารให้ประชาชนที่ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะทางราง ที่มีระดับการให้บริการที่ดี สะดวกสบาย ในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป