xs
xsm
sm
md
lg

แนะอย่าปล่อยไว้ถ้ารู้สึกมือสั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกเหนือจากโรคอัลไซเมอร์ที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุแล้วยังมีโรคที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและหน้าที่การงานได้อย่างคาดไม่ถึง นั้นคือ โรคพาร์กินสันและโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. พญ. อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าอาการมือสั่นเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักเป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคทางระบบประสาทในผู้สูงอายุ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และ โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) โดยทั้งสองโรคนี้ผู้ป่วยจะมีลักษณะของอาการมือสั่นที่แตกต่างกันและมีวิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคทั้งสองออกจากกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

จากสถิติพบว่าทั้ง 2 โรคมักพบในผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปพบมีอาการของโรคพาร์กินสันพบประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และเพศชายมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าเพศหญิง 1.5-2 เท่า ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการของโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุจะพบประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ และ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคเท่ากับเพศหญิง


การวินิจฉัยแยกโรคสามารถพิจารณาได้โดยดูว่าอาการสั่นเกิดขึ้นในช่วงใด โดยอาการมือสั่นในโรคพาร์กินสันมักจะเกิดขึ้นในขณะมืออยู่นิ่งและเกิดกับมือด้านใดด้านหนึ่งก่อน และผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักพบมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อเกร็ง หรือ ทรงตัวไม่ดี ในขณะที่อาการมือสั่นในโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุมักจะเกิดขึ้นในขณะใช้มือทำกิจกรรม เช่น ขณะหยิบของ หรือ ตักอาหาร เป็นต้น โดยอาการมือสั่นจะเป็นทั้งสองด้านและผู้ป่วยมักจะมีแต่อาการมือสั่นเป็นหลัก

การรักษาโรคมือสั่นทั้ง 2 โรคก็มีความแตกต่างกัน โดยอาการมือสั่นในโรคพาร์กินสันจะรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนเป็นหลัก ในขณะที่อาการมือสั่นในโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุจะรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Beta Blockers เป็นหลัก อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยโรคมือสั่นทั้ง 2 โรคที่มีอาการสั่นรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน ในปัจจุบันก็มีผ่าตัดสมองเพื่อรักษาอาการมือสั่นได้อีก 3 วิธี ซึ่งสามารถลดอาการมือสั่นได้เป็นอย่างดี


ประกอบด้วย 1. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า (Deep Brain Stimulation) 2. การผ่าตัดแบบจี้ด้วยความร้อน (Radiofrequency Ablation) และ 3. การผ่าตัดด้วยคลื่นเสียงแบบไม่เปิดแผล (Magnetic Resonance-guided Focus Ultrasound) ซึ่งการผ่าตัดทุกรูปแบบนั้นก็มีความแตกต่างด้านเทคนิค และ มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนั้นการรักษาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น