xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.โต้ “สามารถ” แจงค่าโดยสาร MRT เฉลี่ย 1.18 บาท/กม. ใช้ “สีน้ำเงินต่อม่วง” ยาว 59 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.โต้ “สามารถ” ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT เฉลี่ยเพียง 1.18 บาท/กม. กรณีเดินทางเชื่อมสีน้ำเงินและสีม่วง จ่าย 70 บาท หรือเดินทางได้มากกว่า 59 กม. ขณะที่มีเส้นทางใต้ดินค่าก่อสร้างสูง และมีผู้โดยสารใช้น้ำกว่าสีเขียวกึ่งหนึ่ง รัฐจึงรับภาระค่าก่อสร้าง

วันที่ 19 เม.ย. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) จากกรณีใน Facebook ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ระบุหัวข้อว่า “ดูกันชัดๆ อีกที ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม. หรือ รฟม. ถูกกว่า?”

โดย รฟม.เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) มีระยะทางประมาณ 47 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ระยะทาง 23 กิโลเมตร โดยมีอัตราค่าโดยสาร

1. กรณีการเดินทางที่ไกลที่สุดจากรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเชื่อมต่อไปยัง MRT สายสีน้ำเงิน จะอยู่ที่ประมาณ 59 กิโลเมตร โดยจะเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 70 บาท ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าประชาชนมีภาระค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 1.18 บาท/กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าภาระค่าโดยสารเฉลี่ยของ กทม. และไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวอ้าง

2. เนื่องจากโครงการ MRT สายสีน้ำเงิน เป็นโครงการก่อสร้างที่มีแนวเส้นทางเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังมีแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ลอดผ่านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยากในการก่อสร้างและมีความเสี่ยงในการดำเนินการหลายแห่ง จึงทำให้มูลค่าลงทุนโครงการสูงกว่าโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ถึง 3 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่ผู้รับสัมปทานต้องแบกรับด้วย

ในทางกลับกัน ปริมาณผู้โดยสารของโครงการ MRT สายสีน้ำเงิน กลับน้อยกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ รฟม. (ภาครัฐ) ต้องเป็นผู้รับภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา เพื่อจูงใจให้เอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการทั้งหมด

3. การพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม มีปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณา ได้แก่ พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ระยะเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสาร ความเต็มใจในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน (Willingness to pay) เป็นต้น ดังนั้น หากเปรียบเทียบการเดินทางเฉลี่ยของประชากรใน กทม.บนโครงข่ายรถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 8 สถานีต่อเที่ยว จะเห็นได้ว่าการเดินทางใน MRT สายสีม่วงจะมีค่าโดยสารอยู่ที่ 33 บาท และ MRT สายสีน้ำเงินอยู่ที่ 31 บาท ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีค่าโดยสารเมื่อเดินทาง 8 สถานี ในโครงสร้างอัตราค่าโดยสารปัจจุบันอยู่ที่ 40 บาท ซึ่งจะพบว่าอัตราค่าโดยสารของ MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงินจะต่ำกว่าประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ทั้งนี้ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารของ รฟม.เป็นไปตามผลการคัดเลือกเอกชนที่กำหนดภาระของรัฐและประชาชนที่ต่ำที่สุดมาโดยตลอดและมิอาจเปรียบเทียบกับแนวทางอื่นๆ ตามที่นักวิชาการดังกล่าวกล่าวอ้างโดยปราศจากข้อมูลที่ รฟม.อ้างอิง


กำลังโหลดความคิดเห็น