การตลาด - อิปซอสส์ เผยผลวิจัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต ความคิดเห็น และพฤติกรรมของผู้คนอาเซียน รวมถึงคนไทย อันเป็นผลจากการต้องอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ถึง 3 ระลอก และย้ำให้เห็นว่า วัคซีน ยังเป็นความหวังที่ทุกคนต่างรอคอย
พิษโควิด ทำการตลาดค้าปลีกเปลี่ยนครั้งใหญ่ รายได้ครัวเรือน - พฤติกรรมการใช้จ่าย - กิจกรรมไลฟ์สไตล์ – ความกังวล และ ความต้องการการดูแลจากรัฐ เปลี่ยนไปดังที่ไม่เคยเป็น
บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นางสาว อุษณา จันทร์กล่ำ (Usana Chantarklum) กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วย นาย อิษณาติ วุฒิธนากุล (Aitsanart Wuthithanakul) ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด ได้เปิดเผยถึงข้อมูลวิจัยเรื่อง “วิถีชีวิตท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดใหญ่ ความคิดเห็น และพฤติกรรมของประชากรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
โดยชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยท่ามกลางของการแพร่ระบาดของไวรัสถึง 3 ระลอก ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิต พร้อมชี้ให้เห็นทิศทางผลกระทบจากพิษโควิดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีก รายได้ครัวเรือน พฤติกรรมการใช้จ่าย กิจกรรมไลฟ์สไตล์ และความกังวลของผู้คนในอาเซียน รวมไปถึงความต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความหวังที่แทบทุกคนต่างรอคอย
รายงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นและความกังวลต่อสภาวะการณ์รวมของสถานการณ์โควิด 19 โดยรวมภายในภูมิภาค ซึ่งพบสัดส่วนความกังวลของผู้คนในระดับสูงของการแพร่ระบาดทั้ง 3 ระลอก ในอัตรา 45% 50% และ 49% สำหรับ ระลอก 1 ระลอก 2 และ ระลอก 3 ตามลำดับ โดยอัตราความกังวลโดยรวมของคนไทยกับทั้ง 3 ระลอก พบว่ามีสัดส่วนที่ 83% 77% 78% ตามลำดับ ซึ่งมีระดับความกังวลที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ โดยรายได้ครัวเรือน และเงินออม เป็นประเด็นที่ผู้คนได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น ๆ
ในส่วนรายได้ครัวเรือน พบว่าในระลอกที่ 3 ผู้คนจากประเทศอินโดนีเซียมีรายได้ครัวเรือนลดลงในระดับต่ำสุดจากทั้ง 6 ประเทศ โดยลดลงในอัตรา 82% ขณะที่ไทย ตามมาที่อัตรา 80% ในส่วนของเงินออมพบว่าคนไทยมีเงินออมที่ลดลงโดยเฉพาะหลังการระบาดระลอก 3 ที่คนไทย 80% กล่าวตนมีเงินออมลดลง ซึ่งลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งอาเซียนในระลอก 3 ที่อยู่ที่ 70%
เมื่อพิจารณาในมุมของการนำเงินสำรองออกมาใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนนี้ จะพบว่าภาพรวมของทั้งภูมิภาค มีครัวเรือนที่มีเงินออมเพิ่มขึ้น 7% ในเวฟ2 และลดลงเหลือ 6% ในเวฟ3 ในทางตรงกันข้ามพบว่าครัวเรือนในอาเซียนที่มีเงินเก็บหายไปมากกว่าครึ่งที่ 16% เท่ากันในเวฟ2 และ เวฟ3 ขณะที่ประเทศไทยเองหากเปรียบเทียบระหว่าง เวฟ 2 และ เวฟ 3 จะพบว่า
เวฟ2 เวฟ3
คนที่มีเงินออมเพิ่มขึ้น 5% 3% ไม่เปลี่ยนแปลง 17% 17% ลดลงน้อยกว่า 10% 20% 20% ลดลงมากกว่า 10%-20% 19% 22% ลดลงมากกว่า 20% - 50% 18% 19% ลดลงมากกว่า 50% 21% 20%
ทั้งนี้การสำรวจได้ตั้งคำถามกับผู้คนในอาเซียนต่อไปว่าหากรัฐบาลนำมามาตรการปิดกัดกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อระงับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในอนาคต คุณมีความกังวลต่อที่อาจเกิดขึ้นในระดับใด และเป็นกังวลว่าจะส่งผลต่อรายได้ของคุณหรือไม่ โดยพบว่าความกังวลของคนไทยในคำถามดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้นความกังวลยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในระลอก 3 นี้ ในอัตรา 82% 81% และ 83% สำหรับ เวฟ1 เวฟ2 และ เวฟ3 ตามลำดับ
นายอิษณาติ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงความคิดเห็นและความกังวลที่ผู้คนมีต่ออนาคตของตนเอง ภายหลังที่ได้อยู่ร่วมกับโควิดมาเป็นเวลา 1 ปี พบว่า ผู้คนในภูมิภาคยังคงต้องต่อสู้และเป็นกังวลกับการใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองไปยังแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งภาพรวมของคนทั้งภูมิภาค มีความเห็นที่รู้สึกดีกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตน ในอัตราเฉลี่ย 30% ส่วนประเทศไทย มีอัตราต่ำสุดในกลุ่ม 6 ประเทศที่ทำการสำรวจ ที่อัตรา 11% และถือว่าเป็นอัตราที่ตกต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดในระลอก 2
เมื่อถามถึงแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้คนในภูมิภาค 42% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศตนจะดีขึ้น โดยเมื่อมองลงไปในแต่ละประเทศพบว่า อินโดนีเซีย นำมาเป็นอันดับ 1 – 76% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 49% สิงคโปร์ อันดับ 3 - 37% อันดับ 4 เวียดนาม 35% และไทย อันดับ 5 รองสุดท้าย ในอัตรา 30% ส่วนอันดับสุดท้าย อันดับ 6 ประเทศมาเลเซีย 24% สำหรับ ไทยก็ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลง เมื่อเทียบกับ การระบาดในระลอก 2
*** โควิด กระทบวิถีชีวิตและกิจกรรมเปลี่ยน
การระบาดของ โควิด 19 สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องต่อวิถีชีวิตในสังคม ตลอดจนความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คน ทั้งใน มาเลเซีย ไทย และ เวียดนาม ซึ่งต่างต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมที่เคยทำตามนโยบาย Social Distancing โดยประชากรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างระมัดระวังที่จะหลีกเลี่ยงการออกไปยังแหล่งชุมนุมที่มีคนมาก มาย เช่น ยิม สถานบริการด้านกีฬา (Sport facility) แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนอีเว้นท์ต่าง ๆ โดยผล การวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต และช่วงเวลาที่อยากออกไปทำกิจกรรม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หากเรียงลำดับกิจกรรมที่ผู้คนอยากทำในทันทีจะพบผลลัพธ์ดังต่อไปนี้ อันดับแรกคือการไปหาเพื่อนถึงบ้าน 36% / ใช้รถขนส่งมวลชน 33% / ไปภัตตาคาร-ร้านอาหาร 28% / ไปยิม – สถานออกกำลังกาย 21% / ท่องเที่ยวในประเทศ 19% / ไปงานพื้นบ้าน 14% / ท่องเที่ยวต่างประเทศ 9% ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังระบุถึงช่วงเวลาที่อยากทำตามกิจกรรมเหล่านั้น สำหรับคนไทยสิ่งที่คนไทยอยากทำทันทีก็คือ - ไปเยี่ยมเพื่อนหรือครอบครัวถึงบ้าน / ใช้บริการขนส่งสาธารณะ / ไปภัตตาคาร-ร้านอาหาร / ไปยิม หรือ สถานออกกำลังกาย
ในเรื่องของพฤติกรรมใช้จ่ายภายหลังการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 พบว่าผู้คนจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับ จำนวนเงินที่ใช้ และไม่ใช้จ่ายกับของชิ้นใหญ่ๆ หรือแม้แต่การลองใช้สินค้าใหม่ๆ และอัพเกรด นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยหันมากักตุนอาหารและของใช้ส่วนตัวเพิ่มขึ้นช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3
จากสถิติผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนต่อกิจกรรมด้านการจับจ่ายใช้สอย โดยมีการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อระบุถึงสัดส่วนทางพฤติกรรมในแต่ละข้อที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง หากเปรียบเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดระลอก 2 โดยพบผลดังนี้
ประเด็น ”ตอนนี้ฉันให้ความสำคัญกับจำนวนเงินที่จะจับจ่ายกับการช็อปปิ้ง” ประเทศไทยอยู่ที่ บวก 79% แต่ค่าเฉลี่ยทั่วอาเซี่ยนอยู่ที่ บวก81%
ประเด็น “ ฉันไปห้างน้อยลง เพราะมาตรการ Social distancing” ประเทศไทยอยู่ที่ บวก 74% แต่ค่าเฉลี่ยอาเซี่ยนอยู่ที่ บวก 72%
ประเด็น “ฉันกักตุนอาหารและของใช้ส่วนตัว” ประเทศไทยอยู่ที่ บวก 35% ส่วนค่าเฉลี่ยอาเซียนอยู่ที่ บวก 29%
ประเด็น “ฉันซื้อสินค้าและเลือกใช้แบรนด์ที่ปกติจะไม่ซื้อเลย” ประเทศไทยอยู่ที่ ลบ8% ส่วนค่าเฉลี่ยอาเซียนอยู่ที่ ลบ4%
ประเด็น “ ฉันเลือกซื้อสินค้าในครัวเรือนที่มีราคาแพงกว่าปกติที่เคยซื้อ” ประเทศไทยอยู่ที่ ลบ 19% ส่วนค่าเฉลี่ยอาเซียนอยู่ืั้ที่ ลบ43%
ในภาพรวมพบว่าผู้คนอาเซียนกว่า 67% ยังไม่มั่นใจที่จะซื้อของชิ้นใหญ่ อย่างบ้านหรือรถ โดยผู้คนเลือกจ่ายสิ่งที่จำเป็นกว่าก่อน ส่วนการใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะถูกระงับไว้ก่อน โดยความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการที่จะซื้อและใช้นั้น ถูกสำรวจผ่านชุดคำถามว่า “คุณจะใช้มากขึ้น เท่าเดิม หรือ น้อยลง เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 และหลังการยกเลิกมาตรการจำกัดต่าง ๆ” พบว่า ผู้คนในอาเซียนเลือกใช้จ่ายกับ การทำอาหารในบ้าน 42% / ซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 36% / ซื้อของใช้ส่วนบุคคล 27% / การท่องเที่ยว 20% / เสื้อผ้า 15% / ภัตตาคาร-ร้านอาหาร 12% / งานประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม 11% เรียงตามลำดับ
*** ดิจิทัลมาแรง เดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด และสตรีมมิ่ง
ส่วนกิจกรรมด้านดิจิทัลกลับมีความต้องการสูง เช่น อีคอมเมิร์ซ การใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสด และสตรีมมิ่ง โดยโควิดทำให้นิสัยคนเปลี่ยนไป กลายเป็นว่ากิจกรรมบางอย่างมีการทำมากขึ้นกว่าช่วงปกติก่อนเกิดโรคระบาดอย่างเด่นชัด ได้แก่ การใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดีย ซื้อของออนไลน์ ใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดเมื่อไปซื้อของในห้าง รับชมสตรีมมิ่ง และคอนเท้นท์ เช่น Netflix ฯลฯ เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามกิจกรรมบางอย่างถูกทำน้อยลงไปจนถึงไม่ทำเลย ได้แก่ สูบบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ และดื่มแอลกอฮอล์ โดยสถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมด้านอุปนิสัยส่วนตัวหลังจากเผชิญวิกฤตโควิด เปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดที่ทำให้การทำกิจกรรมด้านต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนไป
*** ประชากรทั้งไทยและในภูมิภาค อยากเห็นมาตรการความปลอดภัยจากโควิด
โดยความต้องการ การสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือนมีอัตราความต้องการสูงขึ้น
อยู่อย่างปลอดภัยจากโควิด 19 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับความคิดเห็นของประชากรในภูมิภาคนี้และคนไทย โดยเมื่อเปรียบเทียบความเห็นของคนทั้งอาเซียน ในการระบาดระลอก 2 และ 3 พบผลลัพธ์ดังนี้ การคุ้มครองอาชีพการงานจาก 21% ลดลงสู่ 18% ควบคุมราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 14% สู่ 15% ปกป้องผู้คนจากภัยจากโควิด 19 เพิ่มขึ้นจาก 48% สู่ 50% และออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 16% สู่ 18%
ส่วนความคิดเห็นของคนไทย พบว่ามีอัตราการเรียกร้องสูงขึ้นใน 2 ประการที่สูงขึ้นจาก เวฟ2 ได้แก่ อยากให้รัฐปกป้องทุกคนจากภัยจากโควิด จาก เวฟ2 ในอัตรา 31% เป็น 38% ในเวฟ3 และ ต้องการให้รัฐ ออกมาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือน จาก เวฟ2 ไป เวฟ 3 ในอัตรา 30% เป็น 33%
ขณะเดียวกันเรื่อง “วัคซีน” ก็ยังเป็นความหวังที่ผู้คนต่างรอคอย โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งอาเซียนในอัตรา 41% ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะรับวัคซีนทันทีเมื่อมีโอกาส 38% ตั้งใจที่รับ มีเพียง 14% ที่อาจจะไม่รับ และอีก 7% ที่ปฏิเสธการรับวัคซีน ทว่าเมื่อมองที่ประเทศไทยกับพบสัดส่วนความตั้งใจรับวัคซีนในทันทีที่อัตรา 35% ตั้งใจรับ 43% อาจจะไม่รับ 15% และปฏิเสธการรับวัคซีนที่อัตรา 7%
เมื่อนำผลที่เกิดขึ้นมาพิจารณาร่วมกับการแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในผลข้างเคียงของวัคซีน ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นที่ผู้คนชาวไทยมีต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีให้เลือก ส่งผลให้ความตั้งใจในการรับวัคซีนลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตามคนไทยก็ยังมองว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี รวมถึงผู้ที่ทำงานรักษาความปลอดภัยและพนักงานทำความสะอาด เป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก
ดังนั้นการปล่อยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพออกมาให้ทันเวลา มีจำนวนเพียงพอ และการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะทำให้แผนการฉีดวัคซีนเพื่อปกป้องค
นไทยจากไวรัสร้ายประสบผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจในท้ายที่สุด นายอิษณาติ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ผลสำรวจชุดนี้ได้มาจากการจัดเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ซึ่งถูกจัดทำขึ้นโดยบริษัท อิปซอสส์ ผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ประเทศละ 500 คน อันได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม รวมทั้งสิ้น 3,000 คน
การศึกษาครั้งนี้ถูกจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564ทำการสำรวจในการระบาดของโควิดถึง 3 ระลอก ในช่วงเวลาดังนี้ เวฟที่ 1-เดือนพฤษภาคม 2563 , เวฟที่ 2-เดือนกันยายน 2563 และ เวฟที่ 3-เดือนกุมภาพันธ์ 2564
สำหรับการศึกษาในแต่ละระลอกข้อมูลจากการสำรวจมีการถ่วงน้ำหนักที่แตกต่างกันเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มสามารถสะท้อนและเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรหลักตามสำมะโนประชากรล่าสุด (demographic profile) ได้ โดยอิปซอสส์คำนวณความแม่นยำของผลสำรวจออนไลน์นี้ มีช่วงความน่าเชื่อถือ (credibility interval) อยู่ที่ +/- 3.5%