ไทยเวียตเจ็ท เดินหน้าเพิ่มฝูงบินเป็น 25 ลำ ในปี 64 ตั้งเป้าผู้โดยสารแตะ 6 ล้านคน Cabin Factor เม.ย.เฉลี่ย 80% จ่อเปิดเส้นทางข้ามภาคเพิ่ม พร้อมรุกธุรกิจ e-commerce เพิ่มสัดส่วนรายได้ Non-Flight 30%
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไทยเวียตเจ็ท ยังไม่มีการหยุดบินหรือปลดพนักงานออก มีเพียงการปรับลดเที่ยวบินเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทเห็นว่า ผู้โดยสารบางกลุ่มยังคงมีความจำเป็นในการเดินทางแม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม ซึ่งในปี 2563 บริษัทมีผู้โดยสารประมาณ 3 ล้านคน ขณะที่สถานการณ์การบินทั่วโลก ผู้โดยสารหายไปถึง 80% เดือน เม.ย. 63 เครื่องบินจอดนิ่ง 70% และเดือน ธ.ค. 63 ยังมีเครื่องบินจอดไม่สามารถทำการบินได้ราว 50%
ทั้งนี้ ไทยเวียตเจ็ทเป็นสายการบินขนาดเล็ก แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่มีความคล่องตัวมากกว่า เมื่อสายการบินอื่นๆ หยุดบิน หรือลดเที่ยวบิน จึงเป็นโอกาสของไทยเวียตเจ็ท ประกอบกับการกล้าตัดสินใจ เพิ่มเที่ยวบินได้เร็ว ทำให้ทันกับความต้องการของผู้โดยสาร
โดยปัจจัยที่ทำให้บริษัทยังคงสามารถทำการบินได้ แม้จะมีผู้โดยสารลดลง เนื่องจากมีการลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน อยางมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะต้นทุนด้านเครื่องบิน ซึ่งทางบริษัทแม่ที่ประเทศเวียดนาม ได้มีการเจรจาลดค่าเชาเครื่องบิน เช่น คิดเฉพาะที่มีการบิน เป็นต้น
ขณะที่ เมื่อประเทศไทย เกิดการระบาดระลอก 2 ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 64 ผู้โดยสารลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 50% แต่เริ่มเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค. สัปดาห์สุดท้าย Cabin Factor เฉลี่ยที่ 80% ขณะที่เดือน เม.ย. มีแนวโน้มดี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่หลังจากนั้นคาดว่าจะลดลงซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ของการเดินทางช่วงหลังวันหยุดยาว
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าแผนเพิ่มฝูงบิน โดยก่อนโควิด มีเครื่องบิน 11 ลำ ในปี 63 มีเพิ่ม เป็น 15 ลำ และภายในสิ้นปี 64 จะเพิ่มเป็น 25 ลำ หรือเพิ่มอีก 10 ลำ โดยได้รับมอบลำแรกมาแล้วในเดือน เม.ย. โดยมีเครื่องบินแอร์บัส A320 ขนาด 180 ที่นั่งและแอร์บัส A321 ขนาด 230 ที่นั่ง
ปัจจุบันบริษัททำการบินเส้นทางภายในประเทศจากสุวรรณภูมิ ไปยัง 10 จุดบิน และมี 3 เส้นทางข้ามภาค ได้แก่ 1. ภูเก็ต-เชียงราย 2. หาดใหญ่-เชียงราย และ 3. เชียงใหม่-นครศรีธรรมราช และจะเปิดเพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ เชียงใหม่-ภูเก็ตและ เชียงใหม่-หาดใหญ่ ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ มี 2 เส้นทางคือ กรุงเทพ-โอจิมินห์ และ กรุงเทพ-ดานัง สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน จัดทำการบินเที่ยวบินในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (semi commercial flight) โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาล
สำหรับการเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight) นั้น จะมุ่งเรื่อง e-commerce เช่น การขายสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งบนเครื่องและผ่ายเว็บไซต์ SKYFUN ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ Non-Flight จาก 25% เป็น 30% โดยหากผู้โดยสาร 3 ล้านคน ซื้อสินค้า คนละ 1 เหรียญสหรัฐฯ จะมีรายได้ 3 ล้านเหรียญ ขณะที่คาดว่า ปี 64 จะมีผู้โดยสารประมาณ 6 ล้านคน ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์โควิด และการเปิดประเทศ ที่จะทำให้เปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศได้ด้วย ส่วน เว็บไซต์ SKYFUN ซึ่งผู้โดยสารสามารถจองตั๋วในแพคเกจต่างๆ และบริการต่างๆ ทั้งประกันที่พัก บริการรถและเรือ ฯลฯ ซึ่งมีสมาชิกราว 1 แสนคน แล้ว
“ธุรกิจการบินต่อจากนี้ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสายการบินแล้ว แต่เป็นการแข่งระหว่างประเทศ สายการบินจะเป็นผู้ตามไม่ใช่ผู้กำหนดเหมือนเดิม เช่น เราอยากบินไปจีน แต่จีนไม่ให้คนจีนออกนอกประเทศ จะทำอะไรได้ ตอนนี้ก็เตรียมพร้อมไปก่อน หากให้บินจะได้พร้อมทันที”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการลดต้นทุนทุกด้าน เช่น จองตั๋ว เช็กอิน ทางออนไลน์ มากขึ้น ใช้โปรแกรมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมัน และจากที่ให้บริการในประเทศไทยมา 5 ปี คนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จักไทยเวียตเจ็ทไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนักเพราะส่วนใหญ่ ทำการบินระหว่างประเทศ แต่ช่วงโควิดมีผู้โดยสารคนไทยรู้จักเรามากขึ้น และเป็นโอกาสที่ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาด ขยับจากอันดับ 5 มาอยู่ที่อันดับ 2 และในบางช่วงขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 1