“ประเทศปลอดจาก ASF” กลายเป็นแบรนด์ของหมูไทยที่รอดพ้นจากโรคระบาดสำคัญในหมูที่คืบคลานเข้ามาตีป้อมปราการป้องกันโรคของหมูในประเทศแถบเอเชียรวมถึงอาเซียนจนแตกพ่ายมาเกือบ 3 ปี นับจากสิงหาคม 2561 เป็นต้นมา เริ่มจากเมืองหลวงของการเลี้ยงหมูในภูมิภาคนี้ อย่างประเทศจีน ที่ได้รับเชื้อจากฝั่งรัสเซียและยุโรป ก่อนวงของการระบาดจะแผ่ขยายกินพื้นที่ 35 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคในปัจจุบัน
แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อจากหมูสู่คน ไม่เป็นอันตรายใดๆ ถึงผู้บริโภคอย่างด็ดขาด แต่ ASF ถือเป็นโรคร้ายแรงในหมูเพราะไม่มีทั้งวัคซีนป้องกัน หรือยาและวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ถ้าฟาร์มไหนโดนเล่นงานอัตราเสียหายเกือบ 100% หมูต้องถูกทำลายตามมาตรฐานการป้องกันโรค เพื่อจำกัดวงไม่ให้แพร่สู่ภายนอก ยังดีที่อัตราการแพร่เชื้อไม่รวดเร็ว เพราะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (airborne) ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดจึงกลายเป็นปราการสำคัญ
ตระหนัก ไม่ตระหนก ถึงเวลาระดมสรรพกำลังชาวหมู
หลังจากรับรู้ว่า ASF เข้าโจมตีจีนได้แล้ว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะโต้โผใหญ่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ได้เร่งระดมสรรพกำลังดึงนักวิชการ คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมผู้เลี้ยงทั่วประเทศ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาให้ข้อมูลโดยเฉพาะการป้องกันโรค กลายเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของระดับมันสมองของประเทศ เพื่อตั้งค่ายกลเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ในระดับสูงสุด ผ่านการประชุมมากกว่า 100 ครั้ง จนกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น แม้ทุกคนลงความเห็นว่ายากที่จะสกัดกั้นได้ ตราบที่ประเทศรอบไทยจะยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
หากแต่ไทยก็ยังมุ่งมั่นป้องกัน โดยเฉพาะรัฐบาลให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และตัดสินใจถูกต้องในการยกระดับแผนรับมือโรคนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2561 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทำงานอย่างแข็งขัน ยึดหลักการสัตวเเพทย์ “รู้โรค รู้เร็ว สงบเร็ว” พร้อมกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ย้อนรอยความสำเร็จ เอกชนจิ๊กซอว์สำคัญดันยุทธศาสตร์ป้องกันโรค
จากเส้นทางการระบาดของโรคนับจากจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ขณะที่เวลานั้นไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและประเทศอื่นๆ แบบไม่จำกัด ทำให้ไทยมีความเสี่ยงอย่างมากที่โรคนี้จะเล็ดลอดเข้ามาในประเทศได้ มาตรการสำคัญนอกจากการดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังในฟาร์มต่างๆอย่างเข้มงวด โดยคณะทำงานวิชาการในการป้องกันควบคุมและกำจัดโรค ASF เร่งยกระดับมาตรฐานการจัดการฟาร์มทั้ง GMP ในฟาร์มใหญ่ 2,785 ราย และ GFM ในฟาร์มรายย่อย 208,000 ราย และการนำระบบ Biosecurity เพื่อการป้องกันในระดับสูงสุดมาใช้ และปศุสัตว์ในทุกพื้นที่ก็เดินหน้าจัดอบรมให้เกษตรกรแบบปูพรมทั่วไทย ขณะที่ด่านปศุสัตว์ทั้ง 58 แห่งทั่วประเทศ ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ ต่างตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่มักนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นติดตัวเข้าไทย
ที่สำคัญยังมีการระดมความร่วมมือครั้งใหญ่จากทุกส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนหลายรายที่เสียสละและพร้อมใจกันปกป้องอาชีพ และปกป้องอุตสาหกรรมหมู ลงขันกันเป็นเงินหลายสิบล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันโรคนี้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่น การสร้างศูนย์ฆ่าเชื้อรถขนส่งสัตว์ตามด่านพรหมแดน ที่สำคัญ เงินที่ลงขันกันนี้กลายเป็นกองทุนชดเชยให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มหมูหลังบ้านที่ไม่มีระบบการป้องกันโรคที่ดี ในกรณีที่ต้องทำลายหมูที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงในการติดและแพร่โรค ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการและภาคเอกชนยังใช้ความเข้มแข็งและการเลี้ยงหมูตามมาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว มาถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการจัดอบรมให้แก่เกษตรกรในเครือข่ายและเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ของตนเอง ถือเป็นอีกแรงสนับสนุนให้ยุทธศาสตร์การป้องกันเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
พลังหมูช่วยเศรษฐกิจชาติ
จากแบรนด์ “หมูปลอดโรค ASF” ทำให้หมูของไทยเนื้อหอมเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จนกระทบต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ ราคาดีดตัวขึ้นไป 2-3 เท่าตัว ซึ่งคนในวงการหมูเห็นโอกาสนี้ เมื่อบริหารจัดการผลผลิตหมูจนมีเพียงพอต่อการบริโภคของคนไทยแล้ว จึงใช้พลังหมูช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาติในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่การส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ แทบจะหยุดชะงัก เหลือเพียงหมูมีชีวิตที่กลายเป็นพระเอกหนึ่งเดียว สามารถส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศได้ถึง 2 ล้านตัว มูลค่า 13,000 ล้านบาท ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 344.30% จากปีก่อนหน้า และยังมีเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูที่ส่งออกไปได้อีก 43,000 ล้านตัน มูลค่า 5.1 พันล้านบาท
ที่สำคัญ หมูไทยยังยืนหนึ่งในฐานะ “หมูถูกที่สุดในอาเซียน” ด้วยราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 79-80 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศอื่นๆ ราคาพุ่งขึ้นไปหลายเท่าตัวแล้ว อย่างเช่น จีนหมูมีชีวิตราคาสูงถึง 132 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 103 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 108 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 88 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าเกษตรกรไทยต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้า ทั้งอากาศร้อนกระทบการเลี้ยงหมู ภัยแล้งทำให้ขาดแคลนน้ำจนต้องซื้อน้ำใช้ กลายเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว และยังมีปัญหาโรค PRRS ที่มาพร้อมกับหน้าร้อนอีก ทำให้ต้นทุนหมูพุ่งไปเกินกว่า 77.49 บาทต่อกิโลกรัมที่ สศก.ประมาณการไว้แล้ว แต่เกษตรกรยังคงยืนหยัดสู้ต่อ เพื่อให้คนไทยไม่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนหมู และมีความมั่นคงทางอาหารต่อไป
วันนี้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าไทยสามารถป้องกันไม่ให้ ASF เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมหมู ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่เกษตรกร รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีมูลค่ารวมกันถึง 2 แสนล้านบาท ไว้ได้อย่างสวยงาม หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องคงมาตรการป้องกันที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้พลังที่เข้มแข็งของทุกคนในวงการหมูเพื่อปกป้องอาชีพตนเองและปกป้องผู้บริโภคคนไทยเช่นนี้ต่อไป
โดย สังวาลย์ สยาม นักวิชาการด้านเกษตรปศุสัตว์