xs
xsm
sm
md
lg

วงการท่องเที่ยวยื่น 6 ข้อ จี้รัฐเร่งฟื้นฟู ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องด้วยภาคธุรกิจท่องเที่ยวบริการ และธุรกิจสายการบินของประเทศไทย โดยมีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT) ร่วมด้วยสมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมสปาไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สาขาประเทศไทย (PATA)

โดยมีแนวร่วมพันธมิตรธุรกิจสายการบิน ซึ่งประกอบด้วย สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สมาคมธุรกิจสายการบิน (BAR) และสมาคมสายการบินประเทศไทย (AAT) ขอชื่นชมภาครัฐในการบริหารจัดการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างสูง ที่บริหารจัดการรับมือการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังและการควบคุมโรคที่เข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและยืนยันความสำเร็จในความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน 

อย่างไรก็ตาม วาระเร่งด่วนระดับโลกของนานาประเทศคือการจัดสรรและการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรภายในประเทศของตนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการเร่งการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่หลายประเทศทั่วโลก
เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และคาดว่าประชากรในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จีน ตะวันออกกลาง และทวีปยุโรปจะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนถึง 70% ของประชากรทั้งหมดภายในช่วงปลายฤดูร้อน หรือเดือนสิงหาคมนี้


จากการสำรวจร่วมกับบริษัทนำเที่ยวถึงนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศในตลาดเป้าหมายของไทย มีผลสำรวจว่านักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วต้องการที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมากหากไม่มีการกักตัว ทำให้การกักตัวแม้ว่าจะลดปริมาณวันกักตัวเหลือ 7 วันนั้น ยังคงเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจเดินทางอย่างยิ่ง

ดังนั้น ทั้ง 8 องค์กรหลักในธุรกิจท่องเที่ยวบริการและธุรกิจสายการบินของประเทศไทยขอขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการเดินหน้าพื้นที่ Sandbox ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนแนวทางของสมาคมหอการค้าไทยในการบริหารจัดการวัคซีน

(รายละเอียดเพิ่มเติมในเอกสารอ้างอิง) และขอเสนอแผนต่อรัฐบาลในการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทยเพื่อรองรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังต่อไปนี้


1. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบเรียบร้อยแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว อย่างน้อยในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง เช่น ภูเก็ต และสมุย

2. เร่งรัดการจัดสรรและการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ของประชากรในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง
เช่น ภูเก็ต และสมุย ภายในวันที่ 15 เมษายน-30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในท้องถิ่นให้มี
ความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป (มติการประชุมโครงการ Phuket Tourism Sandbox ฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตและรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวจะเข้าประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันที่ 26 มี.ค. และนำเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 มีนาคมนี้)

3. พิจารณาให้ภาคเอกชนร่วมกับรัฐบาลในการจัดหา และนำเข้าวัคซีนทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมจากผู้ผลิต
ในต่างประเทศทั่วโลกอย่างเร่งด่วนเพื่อกระจายวัคซีนดังกล่าวสู่ประชาชนภายในประเทศไทยอย่างทั่วถึง


4. เร่งจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรภาคท่องเที่ยวและบริการ (เช่น พนักงานโรงแรม และพนักงานสายการบิน) จำนวนเกือบ 1,000,000 คนทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้แก่ทั้งบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และแก่ตัวนักท่องเที่ยวเอง

5. ประกาศกรอบเวลา และเงื่อนไขที่ชัดเจนในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเริ่มต้น
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป อย่างน้อยสำหรับพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง และเร่งดำเนินการเปิดประเทศสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็วให้ทันต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทยและฤดูกาลการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางการตลาด โดยเฉพาะโรงแรมและสายการบิน และการเตรียมดำเนินการเพื่อเจรจาข้อตกลง “Travel Bubble” ระหว่างประเทศ

6. พิจารณาอนุมัติใช้ IATA Travel Pass ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก
แก่ทั้งนักเดินทาง สายการบิน และภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารรับรองผลตรวจหรือใบรับรองการรับวัคซีนโควิด-19 และเป็นการยกระดับมาตรการความปลอดภัยในการคัดสรรนักท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยสูงเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นแอปพลิเคชันที่สายการบินทั่วโลกให้การยอมรับ

ลงชื่อ
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกสมาคมโรงแรมไทย

นายนนท์ กลินทะ นายวิชิต ประกอบโกศล
นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว
สาขาประเทศไทย

นายหลุยส์ มอเซอร์
ผู้จัดการภูมิภาคประจำประเทศไทย ลาว เขมร พม่า นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

นายกรกฏ ชาตะสิงห์
นายกสมาคมธุรกิจสายการบิน ประเทศไทย

นายกรด โรจนเสถียร
นายกสมาคมสปาไทย

เอกสารอ้างอิง 1

4 แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนของหอการค้าไทย ได้แก่
1. การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยในภาคธุรกิจนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในธุรกิจบริการที่ต้องมีการติดต่อ
ทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติควรได้รับการฉีดเป็นลำดับต้นๆ
2. รัฐต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจนเพื่อให้เอกชนสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับแผน
การกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เร่งฉีดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเอกชนสามารถร่วมทำแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและบริษัทที่มีกำลังก็ยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดหาและกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชน และสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่พนักงานของตนเองโดยสถานพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนนั้น หอการค้าไทยและ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ทำการสำรวจความต้องการของสถานประกอบการซึ่งขณะนี้รวมได้ประมาณ 750,000 คน และคาดว่าทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเราจะนำปริมาณความต้องการนี้
ไปหารือกับภาครัฐในการจัดหาวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศปลอดภัยต่อไป
4. การสื่อสารสร้างความมั่นใจโดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันสื่อสารชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีนซึ่งจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เร็วยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น