การบินไทยเร่งเจรจาหน่วยงานรัฐระดมทุนเพิ่ม และแปลงหนี้เป็นทุนอีกส่วนเพื่อล้างขาดทุนสะสม กว่า 1 แสนล้านหนุนฟื้นฟูกิจการไปรอด ยอมรับหาผู้ถือหุ้นใหม่ยาก “ชาญศิลป์” เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ทำความเข้าใจพนักงาน 1 เม.ย.ประกาศผลกลั่นกรองชุดแรก
นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ มีแผนระดมทุนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งหรือจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทจะมาจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา และเพื่อไม่ให้กลับมามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จะต้องไม่ให้หน่วยงานภาครัฐมีสัดส่วนถือหุ้นเกิน 50% ทั้งนี้ ยอมรับว่าค่อนข้างยากในการหาผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา
ส่วนเงินทุนอีกครึ่งหนึ่ง หรือจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทจะมาจากหนี้แปลงเป็นทุน และเงินกู้ โดยในแผนฟื้นฟูกิจการได้เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่มีมูลหนี้ราว 7.4 หมื่นล้านบาท และเจ้าหนี้สถาบันการเงินราว 2 หมื่นล้านบาท รวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยให้แปลงหนี้เป็นทุนไม่เกิน 50% หรือ 5 หมื่นล้านบาท ในราคาหุ้นละ 3.86 บาท ต่ำกว่าราคาพาร์ที่ 10 บาท ซึ่งหากแปลงเต็มสิทธิจะถือหุ้นในสัดส่วน 90% และสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมเหลือ 10%
“การแปลงหนี้เป็นทุนจะเหมือนกับการลดทุนจดทะเบียน และจะช่วยล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 1.28 แสนล้านบาท แต่ยังไม่รู้จะมีการแปลงหนี้เป็นทุนเท่าไร”
โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นการบินไทย ณ วันที่ 3 ก.ค. 2563 มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ที่ 47.86% กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง 17.08% ธนาคารออมสิน 2.13%
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวถึงการใช้โครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ว่า ภายหลังประกาศปิดรับสมัครพนักงานเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีพนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองรวมประมาณ 13,500 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 17,121 คน (ไม่รวม Outsource และพนักงานสำนักงานสาขาต่างประเทศ)
ส่วนพนักงานที่สมัครเข้าโครงการ MSP B และ MSP C Block 1, 2 และ 3 ประมาณ 2,800 คน และยังมีพนักงานที่ไม่ได้ตัดสินใจแสดงความจำนง หรือเข้าร่วมโครงการ MSP ใดๆ อีกประมาณ 800 คน ซึ่งการบินไทยยืนยันว่าการปรับโครงสร้างใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อน และปรับระดับการบังคับบัญชาให้คล่องตัวมากขึ้น
สำหรับพนักงานประมาณ 800 คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจนั้น หลังจากนี้จะต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เปรียบเทียบเงินเดือนระหว่างฐานเงินเดือนโครงสร้างเก่าและใหม่แล้วเห็นว่าไม่คุ้มค่าในการปรับเปลี่ยน 2. ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างใหม่ และ 3. มีประวัติการทำงานที่ผ่านมา อาจเป็นปัญหาทุจริตและคาดว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาในโครงสร้างใหม่
โดยจะกลั่นกรองพนักงานเข้าโครงสร้างใหม่ระหว่างวันที่ 22-29 มี.ค. และประกาศผลวันที่ 1 เม.ย. 2564 พร้อมสื่อสารให้พนักงานทราบว่าจะเปิดให้แสดงความจำนงรอบ 2 สำหรับกลุ่มฟ้าใหม่ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับพนักงานทำงานชั่วคราวในฝ่ายที่มีความต้องการพนักงานสูง เช่น พนักงานเป็นลูกเรือแต่ระหว่างนี้ยังไม่สามารถทำการบินได้ ต้องเข้าร่วมโครงการฟ้าใหม่ ทำงานในฝ่ายที่มีความต้องการพนักงานไปก่อน เป็นการทำงานชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีพนักงานเข้าร่วมกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ประมาณ 1.4 หมื่นคน ตามเป้าหมาย คงเหลือพนักงานทำงานภายใต้สัญญาเก่าราว 600 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับพนักงานทั้งหมด ซึ่งจะไม่กระทบการทำงานในอนาคตของการบินไทย