xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ รฟม.เคาะเกณฑ์ “สีส้ม” เอกชน 30 รายรุมให้ความเห็นเอกสารประมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.เผยมีเอกชน 30 ราย แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศเชิญชวนประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “บางขุนนนท์-มีนบุรี” เร่งประมวลชงคณะ กก.มาตรา 36 เคาะใน มี.ค. ยันเกณฑ์คัดเลือกยึดตามประกาศคณะ กก.PPP และ กม.ร่วมลงทุน “คมนาคม” วัดใจ รฟม.รวมคะแนนเทคนิค-ราคาอาจต้องรายงาน ครม.ตัดปัญหาฟ้องซ้ำซาก หวั่นไทม์ไลน์ไม่เสร็จ 6 เดือน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่ รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 16 มี.ค. 2564 และให้จัดส่งความคิดเห็นจนถึงวันที่ 19 มี.ค. 2564 นั้น ปรากฏว่ามีเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ 30 ราย โดยเอกชนที่มีทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า ซัปพลายเออร์ต่างๆ กลุ่มบริษัทก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา สถาบันการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ รฟม.เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีทั้งการจัดส่งโดยตรง เช่น สถานทูตต่างๆ บริษัทที่มีชื่อเสียง บริษัทที่เป็นคู่ค้าของ รฟม. นอกจากนี้ยังประกาศผ่านเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดเอกสารการรับฟังความคิดเห็น และส่งความคิดเห็นกลับมายัง รฟม.ทางเว็บไซต์และทางอีเมล

โดย รฟม.อยู่ระหว่างประมวลความเห็นทั้งหมด สรุปรายละเอียดในร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการ เพื่อเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือน มี.ค.นี้

ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ในการประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายส้มนั้น รฟม.ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดวิธีการคัดเลือกเอกชนหลักเกณฑ์ประกาศเชิญชวน ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 กำหนดให้พิจารณาการคัดเลือกให้ใช้เกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้าน ทั้งด้านคุณภาพ และด้านราคา (Price-Performance) ซึ่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ถือเป็นกฎหมายและประกาศคณะกรรมการ PPP เป็นกฎหมายลูกที่กำหนดวิธีการให้ดำเนินการ

ทั้งนี้ การกำหนดข้อเสนอด้านราคา 70% ซึ่งมี 10% เป็นคะแนนด้านความน่าเชื่อถือซึ่งการพิจารณาจะมีสมมุติฐานความเป็นไปตามทางการเงิน ทางเทคนิค ว่าเอกชนเสนอเป็นสมมุติฐานที่เป็นไปได้หรือไม่ มีหลักวิชาการอ้างอิง ไม่ได้ใช้ความรู้สึกตัดสิน
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้เป็นขั้นตอนที่ รฟม.จัดทำร่าง RFP ใหม่ จากนั้น รฟม.จะสรุปเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 เห็นชอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ตนในฐานะ รมว.คมนาคม ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ โดยอำนาจในการกำกับตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ ทำได้เพียงให้หน่วยงานรายงานเข้ามา จากนั้นจึงจะสามารถให้ความเห็นได้ จึงขอให้รอถึงขั้นตอนที่ได้รับรายงานก่อน

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการมาตรา 36 ได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือก จากการพิจารณาข้อเสนอทีละซอง และตัดสินที่ข้อเสนอด้านการเงินผลตอบแทน เป็นการพิจารณาโดยรวมคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงินนั้น และมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เนื่องจากได้มีการยกเลิกประมูลไปแล้ว ถือว่ายังไม่มีใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ขณะที่เอกชน คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ รายที่ยื่นร้องต่อ สคร.ก็ไม่ได้ยื่นซองประมูลด้วย ไม่ได้หมายความว่าการปรับเหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อเอื้อให้แก่ผู้ร้องเรื่องนี้จึงไม่มีการทุจริต การเอื้อประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่ถึงขั้นตอนที่ รมว.คมนาคม และ ครม.พิจารณา

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กรณีที่มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใน RFP จะต้องยึดหลักตามกฎหมาย และอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 36 มีแค่ไหน รวมถึงมติ ครม.จะต้องปฎิบัติตามให้ครบถ้วน ซึ่งมีประเด็นว่า หากใช้ RFP เกณฑ์รวมคะแนนเทคนิคและราคานั้น จะต้องเสนอ ครม.หรือไม่ ตรงนี้ รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ต้องพิจารณาว่ามติ ครม.เป็นอย่างไร ประกาศคณะกรรมการ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หาก รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ตกลง ใช้ RFP เกณฑ์รวมคะแนนเทคนิคและราคา และเห็นว่าควรจะต้องเสนอ ครม. รับทราบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องภายหลัง อาจจะทำให้ขั้นตอนการประมูลใช้เวลามากขึ้น จากแผนที่ รฟม.ได้รายงานกระทรวงคมนาคมว่า เมื่อยกเลิกและดำเนินการประมูลใหม่ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจะได้ตัวเอกชน


กำลังโหลดความคิดเห็น