กรมขนส่งฯ เดินหน้าทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างตัวถังรถขนส่งผู้โดยสาร ความสูงตั้งแต่ 3.60 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ใช้เป็นต้นแบบสำหรับอู่ต่อรถในประเทศ เพื่อมาตรฐานความปลอดภัย กรณีเกิดเหตุพลิกคว่ำ เล็งใช้เป็นเกณฑ์กับรถจดทะเบียนใหม่ รถที่มีการเปลี่ยนตัวถัง เริ่มบังคับใช้ 1 มก.ค. 2566 เป็นต้นไป
วันที่ 19 มี.ค. ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยฯ กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์การทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ภายใต้โครงการศึกษาออกแบบโครงสร้างตัวถังรถโดยสารให้มีความแข็งแรงเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย
โดยนายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการปรับปรุง พัฒนา ยกระดับมาตรฐานด้านวิศวกรรมยานยนต์ของประเทศ กรมขนส่งฯ จึงมีแนวทางในการปรับปรุงความแข็งแรงของโครงสร้างหลักของตัวรถโดยสารซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก โดยได้ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เป็นผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนาออกแบบโครงสร้างตัวถังรถโดยสารมาตรฐานต้นแบบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิตโครงสร้างตัวถังรถโดยสารให้มีความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
ภายใต้โครงการศึกษาออกแบบโครงสร้างตัวถังรถโดยสารให้มีความแข็งแรงเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย เป็นการยกระดับความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังรถโดยสารให้มีความปลอดภัยในการใช้งานสามารถลดความรุนแรงที่จะเกิดแก่ทั้งผู้ขับรถและผู้โดยสารจากการเกิดอุบัติเหตุการพลิกคว่ำ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและตามมาตรฐานสากลของข้อกำหนดสหประชาชาติ (United Nation Regulation) UN R66 (UNIFORM TECHNICAL PRESCRIPTIONS CONCERNING THE APPROVAL OF LARGE PASSENGER VEHICLES WITH REGARD TO THE STRENGTH OF THEIR SUPERSTRUCTURE)
ซึ่งในการทดสอบในครั้งนี้ เป็นการทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังรถโดยสารที่ผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนาได้ออกแบบและพัฒนาความแข็งแรง โดยใช้การจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยในการวิเคราะห์และออกแบบ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ ศักยภาพในการผลิตโครงสร้างตัวถังของผู้ผลิตในประเทศ การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ การออกแบบให้มีน้ำหนักที่เหมาะสมเชิงวิศวกรรม และด้านต้นทุน เป็นต้น
พร้อมทั้งได้จำลองน้ำหนักของรถ และผู้โดยสารเสมือนจริงมาทำการพลิกคว่ำว่ามีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอในการใช้งานหรือไม่ โดยโครงสร้างตัวถังที่ยุบตัวหลังจากการกระแทกพื้น ต้องไม่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ปลอดภัยที่จำลองไว้เป็นพื้นที่ของผู้โดยสาร จึงจะถือว่าโครงสร้างตัวถังรถมีความแข็งแรงที่เพียงพอและเหมาะสมที่จะใช้งาน เป็นไปตามหลักวิศวกรรมและตามมาตรฐานสากลของข้อกำหนดสหประชาชาติ (United Nation Regulation) UN R66
สำหรับต้นแบบโครงสร้างตัวถังรถโดยสารที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ ทางผู้พัฒนาจะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดรายละเอียดสำหรับเป็นต้นแบบผลิตโครงสร้างตัวถังรถโดยสารเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศนำไปผลิตให้มีความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
โดยมีเป้าหมายกับกลุ่มรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีความสูงตั้งแต่ 3.60 เมตรขึ้นไป ที่จดทะเบียนใหม่ รถที่มีการเปลี่ยนตัวถัง และรถที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแต่ได้แจ้งเลิกใช้รถตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้วนำมาจดทะเบียนใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวถัง โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ตามแนวทางการยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล