xs
xsm
sm
md
lg

“พานาโซนิค” ผนึก “สยามสตีล” รุกตลาดบ้านโมดูล่าร์รับนิวนอร์มัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “พานาโซนิค” เดินหน้าท่ามกลางโควิด-19 ดัน “พานาโซนิค ไลฟ์” รุกตลาดด้วย 3 กลยุทธ์หลัก พร้อมผนึกสยามสตีล เข้าสู่สนามบ้านโมดูลาร์ ตอบรับไลฟ์สไตล์นิวนอร์มัล หวังรายได้ 2,900 ล้านบาท จากธุรกิจใหม่นี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

นายวาตารุ มัตสึโมโตะ (Mr.Wataru Matsumoto) กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย พานาโซนิค ไลฟ์ โซลูชันส์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ท่ามกลางสภาวะยอดขายบ้านและคอนโดฯ ของปรศวิถีใหม่ ขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (COVID-19) แต่ยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดบ้านเดี่ยวในปี 2563 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 ยังคงเติบโตเช่นเดียวกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในย่านชานเมือง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพการปรับใช้พื้นที่ใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ, การประหยัดพลังงาน, การให้ความสำคัญต่อสุขภาพ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังพบสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบกับเชิงสังคมต่างๆ เช่น การขยายตัวเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงวัย การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และยังมีปัญหาด้านคุณภาพฝีมือแรงงาน

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ยอดขายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุดเดือนกันยายน 2563 ยอดขายคอนโดมิเนียมลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 แต่ยอดขายบ้านเดี่ยวกลับเพิ่มขึ้น 13%

ขณะที่สัดส่วนผู้สูงวัยในไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกันประมาณ 10-20% จากประชากรทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับที่ญี่ปุ่นเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1990 และความสำคัญในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาดมาเป็นอันดับแรก รองมาคือความปลอดภัย สะดวกสบาย


พานาโซนิคจึงได้วางกลยุทธ์สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในปี 2564 ไว้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การเพิ่มไลน์อัพของอุปกรณ์ที่อยู่อาศัย (Housing Equipment) ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 พานาโซนิคมุ่งขยายไลน์อัพของกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ที่อยู่อาศัย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

2) การขยายธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อคุณภาพอากาศ และรุกตลาด Non-housing ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เครื่องฟอกอากาศ “ziaino” ที่ช่วยกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์และต้านเชื้อแบคทีเรีย และเดือนเมษายนนี้จะเริ่มจำหน่าย “พัดลมระบายอากาศป้องกันฝุ่น PM 2.5 แบบติดผนัง”

3) ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Modular Construction & Housing โดยร่วมมือกับบริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท พานาโซนิค ไลฟ์ โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือร่วมกับทางบริษัท สยามสตีล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดตัว “Experience Center” ซึ่งเป็นบ้านตัวอย่างสองชั้นของ Modular Construction & Housing ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์แบบใหม่ พร้อมจัดแสดงโซลูชันที่ผนวกรวมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์พานาโซนิค โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ สถาปนิก อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ทางสยามสตีลจะเป็นผู้รับผิดชอบทาวด้านงานโครงสร้างเหล็ก การก่อสร้าง ส่วนพานาโซนิคจะดูด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์รองรับการใช้ชีวิตในบ้าน ซึ่งได้สร้างบ้านโมดูลาร์เป็นตัวอย่าง มูลค่า 30 ล้านบาท พื้นที่กว่า 300 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่โรงงานของสยามสตีลที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย โดยการทำตลาดช่วงแรกจะมีบ้านรวม 6 แบบ พื้นที่ตั้งแต่ 200, 250 และ 370 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 35,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าเลือกใช้เพราะเป็นการสร้างแบบตามความต้องการของลูกค้า

ในปีแรกนี้ (2564) ตั้งเป้ายอดขายจากธุรกิจใหม่ดังกล่าว คือ การสร้างบ้านแบบโมดูลาร์นี้ไว้ที่ 80 ล้านบาท ซึ่งก็จะมาจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในบ้านด้วยและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,900 ล้านบาท หรือมียอดการก่อสร้างประมาณ 300 ยูนิตในอีก 10 ปีข้างหน้า จากรายได้รวมในขณะนั้นของพานาโซนิคไลฟ์คาดว่าจะเป็น 11,400 ล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้ว ธุรกิจของพานาโซนิคไลฟ์โซลูชันมียอดขายรวมที่ 4,000 ล้านบาท

“ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พานาโซนิคทำตลาดบ้านพักอาศัยในระบบโมดูลาร์นี้อย่างเต็มระบบ ขณะที่ในจีนก็มีทำแล้ว และทุกวันนี้้ก็ยังทำอยู่ แต่จะเป็นอาคารที่ใช้กับธุรกิจ เช่น ร้านคอนวีเนียนสโตร์ลอว์สัน เป็นต้น ในออสเตรเลีย และในญี่ปุ่นก็เช่นกัน ไม่ได้เป็นที่พักอาศัยเหมือนในไทย และที่เลือกไทยเป็นประเทศแรกที่ทำตลาดบ้านโมดูลาร์นี้เพราะมีความเหมือนกับตลาดในญี่ปุ่น คือ คนสูงอายุเริ่มมีมากขึ้น และคนไทยต้องการคุณภาพชีวิตที่มีความสะดวกสบาย มีเทคโนโลยีมากขึ้น อีกทั้งโควิด-19 ที่ระบาดหนักเป็นตัวเร่งที่ทำให้เราต้องทำตลาดเร็วขึ้นด้วย” นายวาตารุกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น