“คมนาคม” เร่งคัดเลือก 3 เส้นทางนำร่อง โครงข่าย MR-MAP ผลักดันชุมพร-ระนอง, นครราชสีมา-แหลมฉบัง และนครราชสีมา-อุบลราชธานี ลุยออกแบบรายละเอียด “ศักดิ์สยาม” กำชับติดตามคืบหน้าทุกเดือน เตรียมเปิดข้อมูลรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนใน พ.ค. 64
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนา ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกันยายน 2564 ปัจจุบันงานศึกษาอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายในเบื้องต้น และคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น
ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมทางหลวงเร่งจัดทำรายละเอียดผลการศึกษาให้มีความชัดเจน โดยให้นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใน 1 เดือน และจะมีการเชิญประชุมเพื่อเสนอแนวคิด การออกแบบ และจัดทำร่างแผน MR-MAP ก่อนจะนำไปเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ในเดือนพฤษภาคม 2564 ต่อไป
สำหรับเส้นทางในการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง ประกอบด้วย
1. เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด) - นครพนม (ด่านนครพนม) ช่วงสายทาง 1) ด่านแม่สอด-พิษณุโลก 2) พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ (หล่มสัก) 3) เพชรบูรณ์ (หล่มสัก) - ขอนแก่น 4) ขอนแก่น-มุกดาหาร และ 5) มุกดาหาร-นครพนม
2. เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงสายทาง 1) ด่านเจดีย์สามองค์-นครสวรรค์ 2) นครสวรรค์-นครราชสีมา และ 3) นครราชสีมา-อุบลราชธานี
3. เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน) - สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ช่วงสายทาง
1) ด่านน้ำพุร้อน-กาญจนบุรี 2) กาญจนาภิเษก-สระแก้ว และ 3) สระแก้ว-อรัญประเทศ
4. เส้นทาง MR4 ชลบุรี-ตราด (ด่านคลองใหญ่) ช่วงสายทาง 1) ชลบุรี-ระยอง และ 2) ระยอง-ตราด
5. เส้นทาง MR5 ชุมพร-ระนอง
6. เส้นทาง MR6 ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี
7. เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ) - สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) ช่วงสายทาง 1) ด่านเชียงของ-เชียงราย 2) เชียงราย-เชียงใหม่ 3) เชียงใหม่-พิษณุโลก 4) พิษณุโลก-นครสวรรค์ 5) นครสวรรค์-สระบุรี 6) นครสวรรค์-สุพรรณบุรี 7) สระบุรี-นครปฐม 8) นครปฐม-ชะอำ 9) ชะอำ-ชุมพร 10) ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 11) สุราษฎร์ธานี-สงขลา 12) สงขลา-ด่านสะเดา และ 13) สงขลา-นราธิวาส
8. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) - แหลมฉบัง ช่วงสายทาง 1) ขอนแก่น-หนองคาย 2) นครราชสีมา-ขอนแก่น และ 3) นครราชสีมา-แหลมฉบัง
9. เส้นทาง MR9 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) - สุรินทร์ (ด่านช่องจอม)
10. เส้นทาง MR10 สระบุรี-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร
โดยได้พิจารณา 3 เส้นทางนำร่องที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR 5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กม. ซึ่งมีทางเลือกในการพัฒนาโครงข่าย จำนวน 3 ทางเลือก โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการ Land bridge ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
2. เส้นทาง MR 8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) - แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กม. โดยเบื้องต้นกรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้าออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง
3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กม. โดยเบื้องต้นกรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้าออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป กรมทางหลวงจะได้เร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตาม นโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยจะได้ขยายงานศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นให้ครอบคลุมโครงข่าย MR-MAP ทั้งหมดด้วย