ผู้จัดการรายวัน 360 - TNH ตั้งเป้าผู้นำอันดับ 1 โรงพยาบาลของคนกรุงเทพฝั่งตะวันออก และภูมิภาคตะวันออก อัดงบ 300 ล้านบาทสร้างอาคารศูนย์รังสีรักษา พร้อมเปิด 3 ศูนย์ใหม่เพิ่มศักยภาพการรักษา ภายใต้แนวคิด “Personalizer Healthcare เชื่อมั่นทุกการรักษา” แย้มโปรเจกต์ 3,000 ล้านบาท ผุดโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 ด้านหลังที่เดิม คาดเดินหน้าได้ภายในปีนี้
นายฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหาร บริษัท โรงพยาบาล ไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) (TNH) เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากประชากรในพื้นที่ยังมีความต้องการในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็ง ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์เทคโนโลยี
ทั้งนี้ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีโรงพยาบาลใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บวกกับมีโควิด-19 เข้ามา ทำให้พฤติกรรมผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลเปลี่ยนแปลงไป โรคภัยต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน ทางบริษัทจึงต้องมีการศึกษาแนวโน้มและความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโรงพยาบาล อันนำมาซึ่งแผนการลงทุนสร้างโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 ที่ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2564 นี้
สำหรับโปรเจกต์โรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 นั้นจะตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 10 ไร่ ด้านหลังของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ในปัจจุบัน เบื้องต้นวางงบลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท วางเป็นโรงพยาบาล IPD รูปแบบใหม่ที่พร้อมแข่งขันในตลาด
ส่วนแผนดำเนินการในปี 2564 นี้ บริษัทวางงบไว้รวม 400 ล้านบาท แบ่งเป็น รีโนเวตปรับปรุง 100 ล้านบาท และอีก 300 ล้านบาทสำหรับยกระดับคุณภาพการรักษาโรคซับซ้อน และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ภายใต้แนวคิด “Personalizer Healthcare เชื่อมั่นทุกการรักษา” มุ่งหวังเป็น Hospital of Choice โรงพยาบาลอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฝั่งตะวันออก และภูมิภาคตะวันออก ด้วยการชูจุดเด่นด้านการแพทย์ในการรักษา และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้บริการ
ล่าสุดได้เพิ่มศูนย์รังสีรักษา หรือ Linac Center พร้อมจัดซื้อเครื่องฉายรังสีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการศูนย์มะเร็งอยู่แล้ว โดยดำเนินการเพิ่มศูนย์ตั้งแต่ปีก่อน และมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในปี 2565
นอกจากนี้ยังเปิดเพิ่มอีก 3 ศูนย์ คือ 1. ศูนย์ปลูกถ่ายไต 2. ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ และ 3. ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพโดยรวม โดยในส่วนของศูนย์รังสีรักษานั้น ทางโรงพยาบาลมีกระบวนการและเครื่องมือ โดยเครื่องฉายรังสี VitalBeam ที่จะนำไปสู่ตำแหน่งของโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้มพร้อมหัวเครื่องหมุนรอบตัวผู้ป่วย, ปรับอัตราปริมาณรังสีที่ออกมาต่อหน่วยเวลาและความเร็วเครื่อง ลดระยะเวลาในการฉายรังสีลง ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็ง
ขณะที่ศูนย์สุขภาพองค์รวม มีเป้าหมายมุ่งสู่อนาคตของการดูแลสุขภาพ ด้วยการดูแลสุขภาพให้อยู่ในภาวะที่สมบูรณ์สูงสุด ตรวจวิเคราะห์เชิงลึกให้เห็นถึงการทำงานที่แท้จริงของร่างกายเพื่อวางแผนดูแลสุขภาพได้แบบเฉพาะเจาะจง ส่วนศูนย์ปลูกถ่ายไต ทางโรงพยาบาลมีประสบการณ์ในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมาตั้งแต่ปี 2539 จึงมีความพร้อมที่ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีความซับซ้อนเพื่อทำการปลูกถ่ายไตทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด และโรคที่เกี่ยวเนื่องภายหลังการปลูกถ่ายไต
“สถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อรายได้ของบริษัท ซึ่งหากปี 2564 นี้สามารถประคองตัวได้ รักษาสถานการณ์นี้ไว้ได้ พร้อมคุมเรื่องค่าใช้จ่ายให้ดี รวมถึงเรื่องของกำไร เชื่อว่าจะสามารถรักษารายได้เท่ากับปีก่อน” นายฐิติกล่าวสรุป