ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนมกราคม 43% หลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในหลายพื้นที่
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทยในทุกภาคส่วนของค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการทุกๆ เดือน โดยครั้งนี้เดือนกุมภาพันธ์เป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 15-23 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 4,000 แห่ง โดยมีข้อสรุปดังนี้
1. ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีต่อสถานการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นมาก จากเดือนมกราคมในปีเดียวกัน คิดเป็น 43% แต่ยังต่ำกว่าความเชื่อมั่นของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายสาขาเดิม (Same Store Growth) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ไปในทิศทางเดียวกันทุกภูมิภาค
3. ค่าใช้จ่ายต่อบิล (Spending per Bill) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าในเดือนมกราคม 12% แต่ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อบิลในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563
4. ยอดการใช้บริการของผู้บริโภค (Traffic) เพิ่มขึ้น 20% หลังร้านค้าปลีกเปิดทำการ
ได้ตามปกติ และกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มพื้นตัวจากเดือนมกราคม เนื่องจากผู้บริโภคคลายความกังวล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้จ่ายช่วงตรุษจีน
5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการแยกตามประเภทร้านค้าปลีก ทุกประเภทร้านค้าปลีก มีดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 แต่กลับสวนทางกับร้านค้าประเภทสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เป็นผลจากร้านค้าประเภทสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ เป็นต้น
จากผลการสำรวจร้านค้าปลีกกว่า 27,000 แห่ง จะเห็นได้ว่าดัชนีความมั่นใจในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ทุกหัวข้อเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนมกราคมในปีเดียวกันแต่ยังน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการเริ่มมีความมั่นใจในมาตรการการควบคุมของภาครัฐที่ได้ผล และเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ก็ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ถึงแม้จะมีข่าวสารจากทางภาครัฐยืนยัน เรื่องการนำวัคซีนเข้ามาให้ประชาชนไทย ความเชื่อมั่นก็ยังไม่เท่าเดิม
สมาคมฯ ขอตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษี ลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกเพียง 6 เดือน พร้อมให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน