การบินไทยยื่นแผนฟื้นฟูมูลหนี้ 4.1 แสนล้าน ลุ้น 12 พ.ค.เจ้าหนี้โหวตรับแผน ตั้งเป้าระดมทุน 5 หมื่นล้าน “ชาญศิลป์” มั่นใจพลิกฟื้นมีกำไรปี 68 ลุยลดพนักงาน-ฝูงบิน คาดไตรมาส 3 ปีนี้เริ่มกลับมาบินเส้นทางมีกำไร ทั้งยุโรป และเอเชีย
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนแล้วเสร็จและได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายในวันที่ 2 มี.ค. 64 เวลา 11.00 น. ซึ่งมีเอกสารจำนวน 303 หน้า โดยมีมูลหนี้ที่เสนอศาลจำนวน 4.1 แสนล้านบาท (เป็นมูลหนี้ที่รวมทุกสัญญาไปจนครบกำหนดในอนาคต) ส่วนมูลหนี้ก่อนวันที่ 14 ก.ย. 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน มีประมาณ 1.7 แสนล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้ราว 13,000 ราย แบ่งได้ประมาณ 35 กลุ่ม
หลังจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งแผนฟื้นฟูให้เจ้าหนี้ทุกรายพิจารณา เนื่องจากคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนมาก ทั้งเจ้าหนี้ในประเทศไทยและต่างประเทศ การบินไทยจึงได้รับอนุญาตให้ส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหนี้และประหยัดทรัพยากร โดยเจ้าหนี้สามารถสแกน QR Code เพื่อเข้าดูและดาวน์โหลดแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้จากหนังสือแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้ที่จะได้รับจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
และจะโหวตแผนในวันที่ 12 พ.ค. 2564 ซึ่งเจ้าหนี้โหวตรับแผนไม่น้อยกว่า 50% หลังเจ้าหนี้อนุมัติจะส่งแผนไปยังศาลล้มละลาย คาดว่าเป็นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 และเมื่อศาลอนุมัติการบินไทยจะดำเนินการตามแผนทันที
ในเบื้องต้นคณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป ซึ่งในการเจรจาเจ้าหนี้ยังไม่มีการลดหนี้ (แฮร์คัต) ขณะที่คาดว่าจะมีการระดมทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งการเพิ่มทุนและการกู้เงิน
ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับธุรกิจในอนาคต โดยได้ดำเนินการมาแล้ว คือ การลดพนักงานให้สอดคล้องกับปริมาณงาน จากปี 2562 มีพนักงาน 29,000 คน ปัจจุบันเหลือ 21,000 คน จากการลดพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) มีพนักงานที่เกษียณหรือลาออก และที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A และคาดว่าในปี 2564 จะมีโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000-7,000 คน สุดท้ายจะเหลือ 14,000 ถึง 15,000 คน ในปี 2565 หรือลดค่าใช้จ่ายด้านคนจาก 23% ก่อนโควิด เหลือ 13%
นอกจากนี้ จะเน้นเส้นทางบินที่มีความแข็งแกร่ง มีฐานลูกค้า มีกำไร ประมาณ 83 จุดบิน ทำให้ปรับลดฝูงบินจาก 103 ลำ เหลือ 85 ลำในปี 2568 และมีแผนลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้เครื่องบิน และที่ผ่านมาได้มีการเจรจาลดค่าเช่าระยะยาวลง 40% ส่วนค่าเช่าระยะสั้น ช่วง 2 ปีจะจ่าย 20% ของค่าเช่าเดิม และจ่ายเท่าที่มีการบินจริง และในปีที่ 3 จะเป็นค่าเช่าใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม 40%
เป้าหมาย ภายใน 2 ปีข้างหน้าต้องลดค่าใช้จ่ายลง 52,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทำได้แล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท อีกทั้งประเมินว่าการลดค่าใช้จ่าย และสร้างธุรกิจต่างๆ ที่มีถึง 500 โครงการ จะทำให้มีเงินกลับเข้าบริษัทในเดือน ก.ค. ประมาณ 36,000 ล้านบาท และในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 58,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าตามแผนฟื้นฟูบริษัทจะมีรายได้ถึงจุดคุ้มทุนปี 2567 และจะมีกำไรในปี 2568
“การบินไทยจะมียอดขายปี 2562 ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แต่ปี 2563 เหลือ 2 หมื่นล้านบาท ปี 2564 จะเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นล้านบาท ปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 แสนล้านบาท”
นายนนท์ กลินทะ รักษาการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ กล่าวว่า จากนี้ลูกค้าเป้าหมายจะเปลี่ยนตามแนวโน้มที่เปลี่ยนไป จากเดิมกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งอนาคตมีการเดินทางลดลงเพราะสามารถประชุมผ่านออนไลน์ได้ หันไปเน้นกลุ่มอื่น รวมถึงทำการตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการ รวมถึงราคาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
ขณะที่เส้นทางบินจะเลือกเส้นทางที่เคยมีกำไร แข็งแกร่ง ทั้งแง่สินค้าและผู้โดยสาร โดยคาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้จะเริ่มกลับมาทำการบินได้ เช่น แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน ซูริก บรัสเซลส์ ปารีส ส่วนเอเชีย เช่น โตเกียว อินชอน โอซากา นาริตะ ฮาเนดะ สิงคโปร์ ซิดนีย์ เป็นต้น
ส่วนเส้นทางบินที่คาดว่าจะมีกำไรจะปรับขนาดเครื่องบินเล็กลงให้สอดคล้องกับผู้โดยสาร รวมถึงร่วมมือกับพาร์ตเนอร์กลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การบินไทยมีแผนทำการบินเส้นทางใหม่ แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ในเดือน เม.ย. 2564 โดยการท่องเที่ยวฯ ให้การสนับสนุน เป็นการทดลองตลาดอีกด้วย