การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19 ในปี 2563 ก่อให้เกิดวิกฤตด้านอุปทาน เนื่องจากจุดจำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่ต้องปิดให้บริการ ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามมียอดขายที่ตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ลอรีอัล กรุ๊ป ยังสามารถปิดผลการดำเนินงานปี 2563 ด้วยยอดขายมูลค่า 2.799 หมื่นล้านยูโร ซึ่งปรับตัวลง -4.1%
ฌอง-ปอล แอกง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวว่า สิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญยิ่งตลอดทั้งปี 2563 คือ ความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงกลุ่มลูกค้าและซัพพลายเออร์ของบริษัทฯ อีกทั้งยังได้ระดมกำลังเพื่อผลิตเจลทำความสะอาดมือ และครีมทามือหลายล้านชิ้น เพื่อนำไปบริจาคให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในหน่วยทัพหน้า
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของพนักงาน ลอรีอัลสามารถก้าวข้ามวิกฤตในสภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น บริษัทฯ สามารถหวนคืนสู่การเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยยอดขายในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น +4.8% และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้
ด้วยจุดแข็งด้านดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซซึ่งมีการขยายตัวขึ้นมากในช่วงวิกฤต ลอรีอัลสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคไว้ได้ และสามารถชดเชยยอดขายจากการปิดจุดจัดจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก โดยยอดขายส่วนอี-คอมเมิร์ซ1 พุ่งขึ้นอย่างมากในอัตรา +62% โดยเพิ่มขึ้นทุกแผนกและทุกภูมิภาค และมีขนาดเป็น 26.6% ของยอดขายของทั้งบริษัทในปีที่แล้วซึ่งมากเป็นประวัติการณ์
ในปีที่แล้ว แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางมียอดขายโตเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีพลวัตอย่างมาก และแบรนด์ต่างๆ ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดด้วยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ในส่วนแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคสามารถฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบในกลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในผลิตภัณฑ์หลักอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ส่วนแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปิดร้านทำผมในช่วงครึ่งปีแรกนั้น สามารถดีดตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง และยังเติบโตได้อย่างโดดเด่นกว่าตลาดโดยรวมอย่างชัดเจนตลอดปี และท้ายสุด แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง สามารถเติบโตได้ดีกว่าตลาดโดยรวม แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ลำบากยิ่ง และกลับมาเติบโตได้ในไตรมาสสุดท้าย
ผลการดำเนินงานที่ไม่ใช่ด้านการเงินของบริษัทฯ ก็มีความโดดเด่นเช่นกัน โดยลอรีอัล กรุ๊ปได้รับการยอมรับจาก CDP ให้เป็นผู้นำระดับโลกเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับการดำเนินการของบริษัทเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปกป้องผืนป่า และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน บริษัทยังติดอันดับใน 10 อันดับแรกจากบริษัท 9,000 แห่งที่ได้รับการประเมินจาก Refinitiv Diversity & Inclusion Index และยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมสูงสุดของโลกจากสถาบัน Ethisphere Institute เป็นครั้งที่ 11 และท้ายที่สุด ในปี 2563 ลอรีอัลก็ได้เปิดตัวโครงการ L’Oréal for the Future พร้อมด้วยภารกิจที่มุ่งมั่นด้านความยั่งยืนครั้งใหม่ตั้งเป้าหมายปี 2573
“ในช่วงต้นปี 2021 สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่กลุ่มผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกก็ยังคงมีความต้องการในเรื่องความสวยความงาม เราจึงมั่นใจในศักยภาพที่จะเติบโตอย่างโดดเด่นเหนือกว่าตลาดอีกครั้งในปีนี้ ตลอดจนประสบความสำเร็จในการเติบโตยอดขายและผลกำไรได้อีกปี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวิกฤตโรคระบาดด้วยเช่นกัน” ฌอง-ปอล แอกง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าว
สรุปยอดขายแบ่งตามแผนก
• แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ยอดขายลดลง -6.4%
• แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค ยอดขายลดลง -4.7%
• แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง ยอดขายลดลง -8.1% ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามขั้นสูงทั่วโลกหดตัวลงประมาณ 14% ลอรีอัลได้ส่วนแบ่งตลาดในแผนกนี้เพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค
• แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ยอดขายเติบโต +18.9% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่ายอดขายทะลุ 3 พันล้านยูโรเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
สรุปยอดขายแบ่งตามภูมิภาค
ยุโรปตะวันตก ยอดขายลดลง -10.3%
อเมริกาเหนือ ยอดขายลดลง -7.4%
กลุ่มตลาดใหม่
• ละตินอเมริกา ยอดขายลดลง -1.5%
• ยุโรปตะวันออก ยอดขายลดลง -4.9%
• แอฟริกา และ ตะวันออกกลาง ยอดขายลดลง -3.3%
• เอเชียแปซิฟิก ยอดขายเพิ่มขึ้น +3.5% โดยยอดขายในไตรมาส 4 พุ่งขึ้น +16.6%
◦ จีน มียอดขายเพิ่มขึ้น +27.0% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แปซิฟิก สถานการณ์ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเทศที่ยอดขายได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากการแพร่ระบาด อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนามนั้น ทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น ในกลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์เมคอัพยังคงตกต่ำอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำตลาดโดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ดูแลผม และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวนั้น ทำให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส อี-คอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่ผลักดันการเติบโต ผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงและผลิตภัณฑ์เวชสำอางมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดหลักทุกแห่ง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว แบรนด์ลา โรช-โพเซย์ และ เซราวี ช่วยผลักดันกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอางให้เติบโตขึ้น ส่วนแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคมียอดขายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากยอดขายที่ดีของแบรนด์การ์นิเย่
เมื่อเดือน พ.ย. ลอรีอัล กรุ๊ป ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดพื้นที่ภูมิภาคใหม่บางพื้นที่ ได้แก่ โซนเอเชียเหนือ โซน SAPMENA (South Asia, Pacific, Middle East, North Africa) และโซนแอฟริกาใต้ซาฮารา โดยในโซนเอเชียเหนือประกอบด้วยจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนในโซน SAPMENA เป็นโซนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเอเชียใต้ แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ
ลอรีอัลทุ่มเทในธุรกิจความงามมายาวนานกว่า 100 ปี โดยมีพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งประกอบไปด้วยกว่า 36 แบรนด์ ลอรีอัลกรุ๊ป มียอดขายผลิตภัณฑ์ 29.87 พันล้านยูโรในปี 2562 และมีพนักงานทั้งสิ้น 88,000 คนทั่วโลก ในฐานะองค์กรด้านความงามชั้นนำของโลก ลอรีอัลมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายผ่านทุกช่องทาง ครอบคลุมถึงตลาดมวลชน ห้างสรรพสินค้า เภสัชกรรมและร้านขายยา ซาลอน ร้านค้าในสนามบิน ร้านค้าปลีก และอี-คอมเมิร์ซ
ลอรีอัลยึดมั่นในกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กรในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องโดยทีมงานวิจัย 4,100 คน มุ่งตอบสนองต่อความปรารถนาด้านความงามของผู้คนทั่วโลก ลอรีอัลได้ตั้งพันธสัญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับปี 2030 โดยมีเป้าหมายในสร้างระบบนิเวศแบบองค์รวมและสังคมที่ยั่งยืนต่อไป
เกี่ยวกับลอรีอัลประเทศไทย
ลอรีอัล ประเทศไทย เป็นสาขาของบริษัทผู้นำความงามของโลก นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ระดับสากล ใน 4 แผนกผลิตภัณฑ์;
• แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค: ลอรีอัล ปารีส การ์นิเย่ และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก
• แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง: ลังโคม ไบโอเธิร์ม จิออร์จิโอ อาร์มานี คีลส์ ชู อูเอมูระ อีฟ แซงต์ โลร็องต์ เออเบิน ดีเคย์ และ อิท คอสเมติกส์
• แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ: ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และเคเรสตาส
• แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง: ลา โรช-โพเซย์ วิชี่ และเซราวี