ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตั้ง Start up “NBSpace” พัฒนาดาวเทียมร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตดาวเทียมจากประเทศเดนมาร์ก ประกาศความพร้อม นำเทคโนโลยีชั้นสูงดันไทยเป็นฐานผลิตดาวเทียม
ป้อนตลาดโลก
ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เปิดเผยว่า มจพ.และ สทอศ.
มุ่งมั่นที่จะคิดค้นวิจัยและพัฒนาดาวเทียมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตในอุตสาหกรรมดาวเทียมในระดับโลกโดยล่าสุดได้มีโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาดาวเทียมกับกลุ่มอุตสาหกรรมดาวเทียมประเทศเดนมาร์กถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ มจพ.ยังได้สนับสนุนให้จัดตั้ง หน่วยธุรกิจใหม่ Start up ในนาม บริษัท NBSpace ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดาวเทียม ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศตั้งต้นและพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมโดยNB Space จะร่วมพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและรับถ่ายทอดองค์ความรู้ควบคู่กันไป
**ความร่วมมือพัฒนาดาวเทียมไทยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง**
ประเทศเดนมาร์กได้มีการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ผลิตดาวเทียมเทคโนโลยีชั้นสูงรวมถึงเทคโนโลยียุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพโดยมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกตลอดทั้งสถาบันการศึกษาอาทิ Aalborg University ที่มีผลงานการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมชั้นสูงอาทิ การนำระบบ AI Space Cloud on-board image processing ซึ่งใช้ AI ในการควบคุมระบบปฏิบัติการทั้งระบบลดปัญหาความผิดพลาดจากการควบคุมของมนุษย์,ระบบสื่อสารด้วยเลเซอร์ Optical Datalink ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ มีการเข้ารหัสป้องกันปัญหาการแฮกค์ข้อมูล (End-to-End Encryption),การเชื่อมต่อระบบ Inter-Satellite Data Relay Systemเพื่อรับ-ส่งสัญญาณต่อเนื่องเป็นต้น ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตดาวเทียมเดนมาร์กถือได้ว่ามีขีดการพัฒนาสูงสุดและสามารถพัฒนาตามวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงสำหรับลูกค้านานาประเทศ หลังจากประสบความสำเร็จในกิจการดาวเทียมเพื่อการศึกษามายาวนานแล้ว
“เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีบริษัทฯผู้ผลิต คิดค้นสร้างสรรค์ นวัตกรรมด้านดาวเทียม และเทคโนโลยีอากาศยาน รวมถึงเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ แหล่งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะ ดาวเทียมกลุ่ม Nanosat ที่มีขนาด 1 U หรือ 10 cm ขึ้นไป ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก Microsat ที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และต้นทุนที่สูง ผลิตยาก อาทิแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก,แบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานที่ยาวนานถึง 5 ปี ระบบควบคุมทิศทาง ระบบการเชื่อมโยงสัญญาณและระบบการจัดการข้อมูลระบบการบันทึกภาพที่มีความละเอียดคมชัดในระยะยาวไกลตลอดจนพัฒนาการทั้งหลายเหล่านี้ มีประสิทธิภาพสูง กว่าดาวเทียมขนาดใหญ่ ที่มีใช้กันมาในอดีต “
ปัจจุบัน ทาง มจพ.กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาดาวเทียมขนาด 2U, 3U และ 6U หรือ Multi-Payload Cubesat Platform MPCP ในโครงการ Knacksat โดย จะ ทยอย นำขึ้นสู่อวกาศ ภายใน 2 ปีข้างหน้าเป็นต้นไปจากความร่วมมือกับทางกลุ่มผู้ผลิตดาวเทียมจากประเทศเดนมาร์กดังกล่าวจะช่วยให้โครงการ Knacksatสัมฤทธิ์ผลโดยเร็วอีกด้วย
**“NBSpace” Start up หนึ่งเดียว จุดเปลี่ยนไทยสู่อุตสาหกรรมดาวเทียม**
นายอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท NBSpace จำกัด เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนจาก มจพ.ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศโดยทางบริษัทฯมีจุดมุ่งหมายในการผลิตดาวเทียมจากดาวเทียม Nanosat และ Microsat ตามลำดับ รวมถึงระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมและสถานีภาคพื้นซึ่งจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงจากผู้ผลิตดาวเทียมเดนมาร์กเพื่อการขยายผลสู่การผลิตเป็นอุตสาหกรรมของไทย
การวิจัยและพัฒนาโครงการดาวเทียมไทยเรากำลังจะได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากกลุ่มอุตสาหกรรมดาวเทียมประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ NBSpace สามารถผลิตดาวเทียมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไป อย่างครอบคลุม รอบด้าน ความร่วมมือที่ดียิ่งที่ได้รับจากองค์การอวกาศภายนอกประเทศ และ หน่วยงานภาครัฐในประเทศที่ให้การสนับสนุน อาทิ กสทช. นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ความสนใจเตรียมการให้ศึกษาและสร้างความร่วมมือเพื่อนำสู่การผลิตสำหรับใช้ประโยชน์ตอบโจทย์พันธกิจในอนาคตเรากำลังถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมดาวเทียมในอนาคตอันใกล้นี้
“NBSpace เชื่อมั่นว่า การเดินไปข้างหน้าของเราโดยสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเดนมาร์กจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศได้อย่างแน่นอน” นายอภิวัฒน์ กล่าว
**SOAR ความหวังการใช้ประโยชน์สูงสุดของดาวเทียมตอบโจทย์สังคมไทย**
นาย วสันชัย วงศ์สันติวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธและปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ (SOAR) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯได้ดำเนินการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ระบบ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมอาทิ การวางแผนถ่ายภาพ,การรองรับการเติบโตของการจราจรทางอากาศ,ระบบการบริหารจัดการในอากาศของกระทรวงมหาดไทย อาทิ การควบคุมการปล่อยบั้งไฟ โคมลอย เป็นต้น เพื่อรองรับพันธกิจตามความต้องการใช้ประโยชน์จากภาคนโยบาย,ความมั่นคง,อุตสาหกรรมและประชาสังคมในทุกมิติ นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างระบบดาวเทียมในประเทศที่จะได้ร่วมกับ มจพ. และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมจากเดนมาร์ก ที่จะพัฒนาสร้างบุคคลากรของประเทศด้านดาวเทียมและอวกาศเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมไทยในอนาคตอันใกล้นี้.