xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีกวูบหนัก เสนอรัฐเร่งช่วยเหลือด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยของผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนมกราคม 2564 ปรับลดลงต่อเนื่อง อันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้น แม้จะเริ่มมีข่าวดีด้านวัคซีน แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการวัดผลประสิทธิภาพการรักษา ยกเว้นร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีปัจจัยหนุนจากการที่คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น พร้อมเสนอรัฐบาลเร่งเครื่องปล่อยมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ กระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมากขึ้น เชื่อว่าความมั่นใจจะค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะต่อไป

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการปรับลดลงจากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ มองว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 2563

2. ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค
ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคมในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการมองว่าแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา

3. ดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามประเภทร้านค้า
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ จำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่นๆ

ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง สะท้อนว่าผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความมั่นใจว่าภาครัฐต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนข้างหน้า

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคมลดลงมากและรวดเร็ว จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เกตรู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เกต อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เกตและซูเปอร์มาร์เกตกลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนของผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อยู่มาก สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่ผ่านมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์เลย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคมมีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้างได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถี New Normal ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ ไม้อัดต่างๆ จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ จึงดีกว่ากลุ่มอื่นๆ

ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยชัดเจนมากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก และเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการและจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing อีกทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่กรอกแบบสอบถามเป็นการบริหารแบบเชนสโตร์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการสัญจรยังอยู่ในระดับที่ลดต่ำลงมาก ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านอาหารภัตตาคาร เครื่องดื่ม ในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ดีขึ้นกว่าเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ภาครัฐน่าจะควบคุมด้วยมาตรการที่เข้มข้นได้ดี

สมาคมฯ คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจค้าปลีก ที่สำคัญ หากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น


4. ประเด็นพิเศษ
“การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด
-19 ระลอกใหม่จากมุมมองผู้ประกอบการ”

  1. ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขายที่ลดลง10-30%
  2. ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
    ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้วจนมาระลอกใหม่เมื่อต้นปีนี้ สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า
  3. ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากกว่า 25%
    เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563
  4. หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท)
    เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561-2562 ผู้ประกอบการ 55%
    ตอบว่ามียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%
  5. ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
    อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง
  6. ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน
  7. ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น