“ถาวร” ตรวจสนามบินหัวหิน เร่งแผนพัฒนากว่า 420 ล้านบาท เผยปี 64 เดินหน้าขยายรันเวย์รับเครื่องบิน B737 พร้อมกัน 5 ลำ เพิ่มศักยภาพดันเป็นจุดเชื่อมท่องเที่ยวฝั่งทะเลอ่าวไทย-ใต้ตอนล่าง
วันนี้ (5 ก.พ.) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ งบประมาณดำเนินการกว่า 420 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการบินของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทย
นายถาวรกล่าวว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ระยะที่ 1 (ปี 2561-2564) จำนวน 7 โครงการ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานท่าอากาศยาน ด้านการรักษาความปลอดภัย วงเงินงบประมาณ 123.4 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินและเครือข่ายดาวเทียม และเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระ ห้องควบคุมและอุปกรณ์
2. การติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบเดินผ่าน (Walk Through) งบประมาณ 300,000 บาท เพื่อประสิทธิภาพการตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสารและสิ่งของที่นำขึ้นอากาศยานผู้โดยสาร และ 3. การจัดหาพร้อมติดตั้งระบบไฟส่องสว่างแนวรั้วพื้นที่เขตการบิน งบประมาณ 11.28 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (NCASP) และสอดคล้องกับมาตรฐานและข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ส่วนอีก 4 โครงการ อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างขยายความกว้างทางวิ่งและเสริมผิวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน เพื่อรองรับอากาศยานขนาด B737 จากเดิม 2 ลำ เป็น 5 ลำในเวลาเดียวกัน งบประมาณ 250 ล้านบาท
2. การจัดหาทางลาดลำเลียงผู้โดยสารทุพพลภาพ ขึ้น-ลงอากาศยาน วงเงินงบประมาณ 5.35 ล้านบาท 3. การติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิด แบบ Dual View X-Ray ขนาดช่องอุโมงค์ตรวจสัมภาระ 60x40 เซนติเมตร วงเงินงบประมาณ 4,889,900 บาท เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่เสื่อมสภาพ ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพไม่คุ้มค่าในการซ่อมบำรุง และอะไหล่เลิกผลิต
และ 4. งานก่อสร้างรั้วปิดเขตการบินและปรับปรุงรั้วรอบบริเวณ วงเงินงบประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อจัดพื้นที่และวางผังให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการอ้างสิทธิของพื้นที่และเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นไปตามข้อกำหนดในแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (NCASP)
โดยการขยายความกว้างทางวิ่งผิวแอสฟัลติกคอนกรีต ให้มีขนาด 45 เมตร ตามมาตรฐาน ICAO สำหรับรองรับอากาศยานแบบ B737 A320 เป็นการก่อสร้างโครงสร้างชั้นทางด้านข้างส่วนขยายใหม่ และเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับเดิม เนื่องจากได้ผู้รับจ้างในการก่อสร้างฯ แล้ว แต่ผู้รับจ้างยังไม่ได้เข้ามาดำเนินงาน จึงกำชับไปยังคณะกรรมการที่ดูแลในเรื่องการกำกับก่อสร้างฯ ให้ผู้รับจ้างเร่งเข้าดำเนินงาน
ปัจจุบันท่าอากาศยานหัวหินมีอาคารผู้โดยสารขนาด 7,200 ตารางเมตร และพื้นที่ลานจอดเครื่องบินขนาด 31,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 240 คนต่อชั่วโมง รองรับเที่ยวบินประจำและแบบเช่าเหมาลำ และในอนาคตมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 3.4 ล้านคนต่อปี
นายถาวรกล่าวว่า ได้กำชับให้ ทย.ดำเนินการใน 3 ข้อ คือ 1. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางร่วมกันเกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวอย่างประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมจัดทำคำของบประมาณหรือวางแผนการพัฒนาในการจัดทำคำของบประมาณประจำปี 2566
2. ให้จัดทำแผนการตลาด โดยศึกษาหาแนวทางการเปิดเส้นทางการบินระหว่างท่าอากาศยานหัวหินกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง 3. ควบคุม กำกับ และเร่งรัดการจัดทำโครงการต่างๆ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน โดยเชิญผู้รับจ้างให้มาสรุปรายงานให้ผู้ว่าจ้างทราบเป็นระยะ
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานหัวหินมีที่ตั้งที่มีศักยภาพเพียงพอในการส่งเสริมเป็นศูนย์กลางการบินของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทย ถือเป็นจุดเชื่อมสำคัญที่จะรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง และขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว