พนักงานการบินไทยยื่นหนังสือร้อง ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดนายทะเบียนสำรองเลี้ยงชีพ ก.ล.ต. และชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อย 250 ล้านบาท ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ละเลยแจ้งแก้ไขหลักเกณฑ์ ส่งผลให้พนักงานการบินไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเสียสิทธิรับเงินสมทบฯ
วันนี้ (4 ก.พ.) เวลา 10.00 น. สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทการบินไทย ประมาณ 50 คน นำโดย นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวนเอาผิดการปฎิบัติหน้าที่ และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต่อนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องจากก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการบินไทย และขอให้ชดเชยความเสียหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 250 ล้านบาท
นายนเรศ ผึ้งแย้ม กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นนายทะเบียนของทุกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้มีหนังสือที่ กลต.ข.(ว) 42/2551 โดยมีการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาตรา 9 (8) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสภาพ หรือเมื่อเลิกกองทุนตามมาตรา 25
ทั้งนี้ ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และหากข้อบังคับกองทุนใดมีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย ในการตัดสิทธิไม่ให้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ มีหน้าที่แจ้งให้คณะกรรมการกองทุนนำข้อบังคับมาจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องโดยเร็ว
ต่อมา ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนในฐานะนายทะเบียนได้ไปเป็นพยานให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทการบินไทย ตามคดีหมายเลขดำที่ 3718 3827/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ ร 979 1088/2562 ซึ่งได้ฟ้องศาลแรงงานกลางว่าข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พ.ศ. 2545 ว่าขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และขอให้เป็นโมฆะ
โดยได้เบิกความบางส่วนว่า “หากจะให้ถูกต้องจะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับของกองทุนเสียก่อน เพื่อให้เกิดสิทธิแก่สมาชิกของกองทุนในการขอรับเงินสมทบในกรณีที่ลาออกจากกองทุน โดยไม่ได้ออกจากงาน และอาจมีการแก้ไขข้อบังคับให้มีผลย้อนหลังด้วยก็ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ หรือมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกกองทุน ซึ่งเห็นว่าหากถือตามข้อบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบแก่สมาชิกกองทุนได้ หากสมาชิกประสงค์ที่จะได้รับเงินสมทบจะต้องดาเนินการแก้ไขข้อบังคับด้วยวิธีการและขั้นตอนที่กำหนดไว้เสียก่อน”
การที่ ก.ล.ต.ในฐานะนายทะเบียนกองทุนมิได้ดูแลรับผิดชอบตามหน้าที่ และ/หรือติดตามแจ้งให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย ในการตัดสิทธิไม่ให้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ตามหนังสือ ที่ กลต.ข.(ว) 42/2551
การกระทำดังกล่าวของ ก.ล.ต. ทำให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พ.ศ. 2545 จำนวน 15,000 คน (ที่ยังไม่ได้ลาออกจากกองทุน) เสียสิทธิในการขอรับเงินสมทบในกรณีที่ต้องการลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ออกจากงาน และสมาชิกที่ลาออกจากกองทุนแล้ว จำนวน 280 คน เสียสิทธิไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับพนักงานที่มีการทยอยลาออกจากกองทุนเพิ่มเติมและเสียสิทธิจากกรณีดังกล่าว จะมีมูลค่าถึง 400 ล้านบาท