การตลาด - ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนอาจทำให้การกลับสู่ภาวะปกติล่าช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จากการสำรวจของ NielsenIQ
เศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และวัคซีนที่ได้รับการขนานนามว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยนำไปสู่ความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเกือบสองในสาม (64%) ที่ทำการสำรวจจากทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขาจะไม่รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองในทันทีเมื่อวัคซีนมาถึง อ้างอิงจากการสำรวจของ NielsenIQ ผลการสำรวจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความลังเลที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างทันที แม้ว่าจะเริ่มมีการใช้วัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม
การเผยแพร่วัคซีนที่ได้รับการรับรองทำให้เกิดความหวัง แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแนวทางการใช้จ่ายที่เคร่งครัดของผู้บริโภคจำนวนมากในสถานการณ์โรคระบาดเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยส่วนใหญ่ความพร้อมใช้งานและจำนวนของวัคซีนจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น 16% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น เทียบกับ 12% ที่จะใช้จ่ายน้อยลง และผู้บริโภคจำนวนมากที่สุดยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม 72% ของผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างมีสติมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคในขณะที่ทั้งโลกเองก็กำลังพยายามสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น
“หัวข้อพูดคุยและข้อถกเถียงเกี่ยวกับวัคซีนล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับรองคุณภาพตัวยา อัตราความเร็วในการผลิต ประเทศต่างๆ ที่แย่งชิงปริมาณยาเพื่อให้เพียงพอในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรของตน และล่าสุดมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขนาดและการเร่งใช้งานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก” Scott McKenzie หัวหน้าทีม Global Intelligence บริษัทนีลเส็นไอคิว กล่าว
“ระดับความเชื่อมั่นเกี่ยวกับวัคซีนและความต้องการที่จะรับวัคซีนอาจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มให้มีการใช้มากขึ้นรวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน แต่ก็มีหลายสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการมีวัคซีนจะไม่ทำให้โลกกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิดได้”
ความกังวลทางด้านสุขภาพยังคงมีให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนแล้วก็ตาม เนื่องจากผู้บริโภคมากกว่าครึ่งขาดความมั่นใจในการรับประทานอาหารนอกบ้าน (58%) การเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬา (65%) หรือการเดินทางไปต่างประเทศ (70%) แม้ว่าจะมีการยืนยันถึงช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจะสามารถรับวัคซีนได้ และความท้าทายทางด้านการเงินยังคงมีจำนวนมาก โดยครึ่งหนึ่งของผู้บริโภค (52%) กล่าวว่า พวกเขายังคงไม่มั่นใจในการเงินส่วนบุคคลเมื่อทราบถึงช่วงเวลาที่จะได้รับการฉีดวัคซีน
ในช่วงแรกๆ ของการระบาดใหญ่ การวิเคราะห์ของนีลเส็นไอคิวภายใต้หัวข้อ Predicting the COVID-19 Behavioral Reset ได้เผยให้เห็นว่า การระบาดทำให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่มีเกราะกำบังค่อนข้างดี ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ (Insulated Consumer) และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ (Constrained Consumer) จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติในการซื้อสินค้า และตอนนี้ในขณะที่กองกำลังทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังดำเนินการด้านการผลิตและเผยแพร่วัคซีนที่ได้การรับรอง การสำรวจล่าสุดนี้ซึ่งจัดทำขึ้นใน 15 ประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายมากมายที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมามั่นคงเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนที่จะรับวัคซีนทันทีที่สามารถทำได้ 41% กล่าวว่าพวกเขาจะขอรอเวลาก่อน และ 12% กล่าวว่าพวกเขาจะไม่รับวัคซีนเลย ผู้บริโภคจำนวนมากกว่าหนึ่งในสาม (36%) ระบุว่าพวกเขาจะรับวัคซีนทันที ในขณะที่ 11% ยังไม่แน่ใจ
ผู้บริโภคชาวไทยมีทัศนคติเชิงบวก โดยผู้บริโภคจำนวนมากกว่าครึ่ง (53%) ที่ทำการสำรวจกล่าวว่า พวกเขามั่นใจที่จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศหากได้รับการยืนยันถึงช่วงเวลาที่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองแล้ว และหลังจากที่วัคซีนมีอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ผู้บริโภคกล่าวว่าพวกเขาจะใช้จ่ายมากขึ้นกับการออมเงิน/การลงทุน (32%) และการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน (29%)
แผนก Customized Intelligence บริษัท NielsenIQ ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในเดือนธันวาคม 2563 โดยสำรวจผู้บริโภคมากกว่า 11,000 คน ใน 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย แอฟริกาใต้ สเปน ไทย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา