การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรอบใหม่ซึ่งรวมถึงไทยยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพาตนเองนั้นจะเป็นคำตอบในการอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น และนโยบายต่างๆ คงถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหันกลับมามองสิ่งที่จะทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความยั่งยืนได้ในระยะยาว
ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จึงได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 และพร้อมประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ
สำหรับการขับเคลื่อนแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้น ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ และ ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนด้วยความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาให้ความสำคัญต่อระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบ ‘ทำน้อยได้มาก’ และยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ
“เรายกให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และจะต้องสำเร็จภายใน 5 ปีเพื่อการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รวมถึงให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยในด้านสาธารณสุข และจะนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม
สำหรับกิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 1. อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2. บริหารจัดการการใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน 3. ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 4. สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ 5. สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4+1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยรัฐบาลมุ่งหวังว่าหากมีการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในอีก 6 ปีข้างหน้าจะสามารถเพิ่มจีดีพีไทยเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP
หากเจาะย่อยมาเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลยังได้กำหนด “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาด้านการเกษตร” ในพื้นที่อีอีซีที่เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่นี้เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย ด้วยการดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแก้ปัญหา เน้น 5 กลุ่มสินค้าคือ 1. ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2. ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4. เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5. ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนการนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดแผนดำเนินการไว้ระยะ 5 ปี คือปี 2565-2570
หากมองย้อนนโยบายต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจุดกำเนิดนั้นมาจากทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลบิ๊กตู่ 2/1 ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั่นเอง โดยได้มีการฉายภาพให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายใน 2 ด้าน คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะความท้าทายการพัฒนาประเทศของไทยปัจจุบันและอนาคตคือแรงงานในภาคเกษตรที่มีราว 12 ล้านคน แต่ 90% ของพื้นที่เพาะปลูก ปลูกพืชเพียง 6 ชนิด คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด
ขณะที่ราคาเกษตรผันผวน เกษตรกรรายได้ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และแรงงานภาคเกษตรมีอายุมากขึ้น สังคมสูงวัยต้องพึ่งพิงการนำเข้ายา วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศนับแสนล้านบาท ขณะที่ 60% ของพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ 15.5% ของพลังงานในประเทศมาจากพลังงานหมุนเวียน ความท้าทายคือการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และการลดการนำเข้าพลังงาน ส่วนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ 80% ของนักท่องเที่ยว กว่า 35 ล้านคนกระจุกตัวอยู่ใน 8 จังหวัด และเมื่อโลกเผชิญโควิด-19 จึงกระทบต่อไทยเต็มๆ
ภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ BCG Model เพราะถือว่าเป็นแนวทางเศรษฐกิจที่เดินมาถูกทาง สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ และเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งยั่งยืนได้ในระยะยาว ที่ไม่ว่าจะวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยฐานเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นพึ่งพาตนเองจะเป็นเกราะป้องกันได้เป็นอย่างดี
“เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เราพึ่งพาการส่งออก 60-70% ของจีดีพี พร้อมทั้งพึ่งพาเรื่องของการท่องเที่ยวมาก เมื่อโควิด-19 เกิดขึ้นจึงได้รับผลกระทบรุนแรง และหากยิ่งดูการส่งออกของไทยใน 50 บริษัทแรกๆ ล้วนเป็นของต่างชาติ ไทยเป็นเพียงฐานการผลิต หลายอุตสาหกรรมที่ส่งออกเราได้แค่ค่าแรง บางอุตสาหกรรมนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศเป็นหลักแล้วมาอาศัยแรงงานในไทยซึ่งก็เป็นแรงงานต่างด้าวด้วยซ้ำ แล้วเราได้อะไร BCG Model คือทางรอดของเศรษฐกิจไทยเพราะเรามีจุดแข็งจากความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับต้นของโลกหากแต่เรายังขาดการบริหารจัดการ” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ภาคเกษตรของไทยมีปัญหาผลผลิตล้นตลาด แต่ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกวัตถุดิบไปต่างประเทศเพื่อผลิตสารสกัดหรือสารชีวภาพมูลค่าสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม และสารปรุงแต่งอาหาร แล้วไทยก็ต้องนำเข้าสารเหล่านี้กลับมาซึ่งทำให้ไทยเสียโอกาสมูลค่าทางเศรษฐกิจมาตลอด เช่น ส่งจมูกข้าวไปญี่ปุ่นเพื่อผลิตวิตามินที่มีราคาแพง ส่งออกเปลือกมังคุดไปผลิตสารสกัดทางยา แต่หากไทยผลิตสารสกัดได้เองจะยกระดับการผลิตให้แข่งขันได้ โดยอุตสาหกรรมนี้พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศ 90% ดังนั้นมูลค่าเพิ่มจะตกในประเทศต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยี
ดังนั้น ส.อ.ท.มีแผนที่จะตั้งบริษัทดำเนินการในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise หรือ SE ในปี 2564 ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน โดยจะเป็นหน่วยงานรวบรวมความต้องการพืชผลการเกษตรจากโรงงานที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. รวมทั้งจะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารชีวภาพและเทคโนโลยีการแปรรูปขั้นสูงร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศ เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท.นำไปลงทุนพัฒนาการผลิตและกลับไปซื้อผลผลิตเกษตรกรมาแปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง
พร้อมกันนี้ ยังจะสร้างโปรแกรมการบริหารจัดการฟาร์ม การทำเกษตรความแม่นยำสูง และการวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้า การมีเครื่องมือตรวจวัดในทุกกระบวนการผลิต การจัดทำข้อมูลพืชและการวิเคราะห์ การใช้หุ่นยนต์และโดรนในการเกษตร การจัดทำระบบจัดการน้ำแบบอัตฉริยะ การใช้ดาวเทียมเพื่อการเกษตร การปลูกพืชที่เหมาะสมเชิงภูมิศาสตร์ เพื่อให้เกิด Smart Agriculture Industry รุ่นใหม่ที่จะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาต่อไป ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเกษตรไทยและเป็นการยกระดับภาคการเกษตรโดยรวมของประเทศ
“ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเร่งปรับเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ด้วยการมุ่งเน้น BCG Model ยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง) และเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อเป็นทางรอดให้แก่ประเทศ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพียง 5-10 ปีก็จะนำไปสู่การเพิ่มการส่งออกอาหารแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกได้ จากที่ปัจจุบันไทยส่งออกอุตสาหกรรมอาหารอยู่อันดับที่ 11 ของโลก” นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ส.อ.ท.กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้ทำงานกับรัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเปลี่ยนแปลงเกษตรดั้งเดิมด้วยการเร่งใช้เทคโนโลยี การทำเกษตรแปลงใหญ่ มีการวิเคราะห์ดิน หาเงินกู้อย่างเป็นระบบให้ ฯลฯ คาดว่าปี 2564 ภาพจะชัดขึ้น และเชื่อว่าหลายส่วนจะหันมามองเกษตรมากขึ้น เพราะนี่คือทางรอดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่จะทำให้ไทยพึ่งตัวเองหรือเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “BCG Model” ที่ถือเป็นวาระแห่งชาตินั้นจำเป็นต้องอาศัยร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่หัวใจสำคัญคือ ฝ่ายปฏิบัติหลักที่หนีไม่พ้นหน่วยงานรัฐ ทั้งฝ่ายการเมือง ราชการที่เกี่ยวข้องต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันและส่งเสริมอย่างจริงจังและต้องอาศัยเวลา หาไม่เช่นนั้นแล้วนโยบายเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่นโยบายที่ถูกทิ้งไว้บนหิ้งไม่อาจนำมาสู่ภาคปฏิบัติได้ ซึ่งในที่สุดไทยก็ไม่อาจก้าวข้ามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้