ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวการเฝ้าระวังเชื้อไวรัส G4 หรือไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ (G4 Eurasian Avian-like H1N1 Viruses) ที่เกิดการแพร่ระบาดครั้งแรกในหมูของประเทศจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเชื้อนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่เคยระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่พบเชื้อไวรัส G4 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส G4 ในประเทศไทย และยังไม่มีรายงานการระบาดจากคนสู่คน จึงยังไม่น่าเป็นกังวลต่อการระบาดของโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่เมื่อพบโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 มักถูกเรียกว่าโรคไข้หวัดหมูนั้น ความจริงแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกับหมู แต่เป็นการเรียกติดปากจากการระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ H1N1 ที่เคยระบาดเมื่อปี 2009 ซึ่งมีชื่อเรียกในช่วงนั้นว่าโรคไข้หวัดหมู หรือไข้หวัด 2009 ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนชื่อเรียกที่ถูกต้องเป็น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก แต่ไม่เป็นที่ปรากฏชัดว่าเชื้อนี้เริ่มติดในคนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เมื่อมีการระบาดแล้วกลับเป็นการแพร่กระจายและติดต่อจากคนสู่คน ไม่ได้พบในหมูทั่วไป จึงไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือกินเนื้อหมูแต่อย่างใด
“ขอทำความเข้าใจว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่ไข้หวัดหมู เพราะการสื่อสารเช่นนั้นอาจทำให้คนเข้าใจผิด และเกิดความกังวลในการบริโภคได้ ที่สำคัญเชื้อไวรัส G4 ที่พบในจีนเมื่อ 5 ปีก่อนก็ไม่เคยพบในไทย และไม่มีการแพร่เชื้อหรือติดต่อแต่อย่างใด ส่วนการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ สังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ทีกรมปศุสัตว์รับรองให้กับร้านจำหน่ายที่มีมาตรฐาน ที่สำคัญต้องรับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้นซึ่งจะเป็นการป้องกันสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดี ส่วนการป้องกันตนเองจากไข้หวัด ประชาชนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างหรือทำความสะอาดมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย หากจำเป็นจะต้องใกล้ชิดกับสัตว์ควรป้องกันตนเองจากการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ” ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์กล่าว