การรถไฟฯ กำหนดให้ประชาชน 5 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากโควิด-19 ต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทางก่อนซื้อตั๋วโดยสาร ตามมาตรการ ศบค.
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยกำหนดให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ให้งดการเดินทางข้ามจังหวัดหรือกรณีมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ให้มีเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทางเพื่อยืนยันต่อเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการซื้อตั๋วโดยสารอย่างเข้มงวด โดยแสดงบัตรประชาชนพร้อมกับกรอกเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทาง (แบบ ต.8-คค/รฟท) และจะต้องมีหนังสืออนุญาตการเดินทางจากทางจังหวัดออกนอกพื้นที่มาแสดงด้วย แต่หากผู้โดยสารไม่มีเอกสารดังกล่าวจะไม่สามารถซื้อตั๋วโดยสารรถไฟได้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การรถไฟฯ จึงได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของ ศบค. และกระทรวงคมนาคม โดยกำหนดให้สถานีรถไฟที่ตั้งในเขตจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยังมีการให้บริการเดินขบวนรถโดยสารอยู่เขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย
สถานีพานทอง ชลบุรี บางพระ ชุมทางศรีราชา บางละมุง พัทยา บ้านห้วยขวาง ชุมทางเขาชีจรรย์ พลูตาหลวง จำนวน 9 สถานี รวมถึงขบวนรถที่ผ่านเส้นทางดังกล่าว จำนวน 2 ขบวน ได้แก่ ขบวนธรรมดาที่ 283 กรุงเทพ-พลูตาหลวง เวลาออก 06.55 เวลาถึง 11.20 น. และขบวนรถธรรมดาที่ 284 พลูตาหลวง-กรุงเทพ เวลาออก 13.35 น. เวลาถึง 18.15 น.จะต้องปฏิบัติมาตรการหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางออกนอกพื้นที่ของ ศบค.อย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังกำหนดให้ตั้งจุดคัดกรองวัดไข้ผู้โดยสารก่อนเข้าในพื้นที่สถานี การจัดจุดบริหารแอลกอฮอล์ล้างมือ และการให้สวมหน้ากาก พร้อมกับให้สแกนแอปพลิเคชันไทยชนะก่อนและหลังใช้บริการ แต่หากผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ให้กรอกข้อมูลการเดินทางแทน ขณะเดียวกันยังกำหนดให้พนักงานสถานีทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา และใส่ถุงมือในขณะขายตั๋วโดยสาร รวมถึงเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น หน้าช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เก้าอี้ผู้โดยสาร ราวจับบันได ทุกๆ 2 ชม. และในทุกขบวนรถที่ให้บริการ ตลอดจนให้ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในสถานีทุกวัน