xs
xsm
sm
md
lg

ตัวเล็ก ๆ แต่ล้ำ! ‘Nong Pim’ สัญญาณเตือนภัยฝุ่น PM 2.5

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดตัว Nong Pim เครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ผลงานนักวิจัยรุ่นใหม่จากสถาบันนวัตกรรม ปตท. ชูศักยภาพเด่น พร้อมเสิร์ฟข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของผู้ใช้ในทุก ๆ วันเพื่อการมีสุขภาพที่ดี


จากสถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้คนหนุ่มกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่จากสถาบันนวัตกรรม ปตท. รวมพลังกันค้นคว้าจนกระทั่งสามารถประดิษฐ์นวัตกรรมชิ้นหนึ่งขึ้นมา ในชื่อว่า “Nong Pim Air Detector” ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมาพร้อมกับคุณสมบัติและแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่แตกต่างไปจากเครื่องวัดค่าฝุ่นทั่วไปในท้องตลาด

“โก้-เกียรติสกุล วัชรินยานนท์” หนุ่มนักวิจัยฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการปลุกปั้น Nong Pim (น้อง พิม) ขึ้นมา เล่าถึงแรงบันดาลใจในประดิษฐ์นวัตกรรมตัวนี้ว่า เป็นความปรารถนาที่อยากให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น

“เราอยากจะทำระบบ Smart Environment หรือระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ช่วยให้คนเข้าใจสถานการณ์ของสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา ณ เวลานั้น ๆ เพื่อที่จะทำให้เขาปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพที่แวดล้อมตัวเขาอยู่อย่างเหมาะสมได้ และสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญก็คือเรื่องอากาศ โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ฝุ่น PM 2.5 ก็เริ่มเยอะขึ้นและกระทบกับสุขภาพ เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบตรวจวัด PM 2.4 นี้ขึ้นมา”

โก้-เกียรติสกุล วัชรินยานนท์
แน่นอน หลายคนอาจจะบอกว่า เครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ก็มีอยู่ไม่น้อยตามท้องตลาด แล้วความพิเศษแตกต่างของ Nong Pim นี้คืออะไร “อาร์ม-ศิระ นิธิยานนทกิจ” หนุ่มนักวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ซึ่งเป็นผู้ดูแลในด้านเทคนิค ยิ้มเบา ๆ ก่อนอธิบายถึงคุณสมบัติของ Nong Pim

“สำหรับกลไกการทำงาน จะเป็นแบบ Laser Light Source Scattering ซึ่งตรวจวัดได้เร็ว ความแม่นยำสูง จริง ๆ เทคโนโลยีตัวนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว เพียงแต่รูปแบบการใช้งานของเรา จะไปอยู่ในรูปแบบของการดึงข้อมูลไปยังระบบ Cloud เพื่อนำไปวิเคราะห์และสรุปผลก่อนส่งเป็นข้อมูลให้ผู้ใช้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เว็บไซต์บ้าง หรือ Direct Message ในไลน์กรุ๊ปบ้าง”

อาร์ม-ศิระ นิธิยานนทกิจ
หนุ่มนักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า Platform ตัวนี้จะมีการเก็บข้อมูลเป็นบันทึกประจำวัน ก่อนนำไปสรุปเป็นผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในเวลานั้น ๆ รวมถึงการส่งเตือนไปยังผู้ใช้งานในบริเวณนั้น ซึ่งความถี่ในการส่งข้อมูลก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้บริการว่าต้องการมากน้อยครั้งแค่ไหนอย่างไร

“และเหนืออื่นใด การเข้าถึงข้อมูลนี้ สามารถเข้าถึงได้หลายคนพร้อมกัน ไม่เหมือนกับการที่เราอ่านจากเซ็นเซอร์หน้าเครื่อง และนอกจากนั้น ผู้ที่ไม่อยู่บริเวณนั้น อย่างเช่น คนที่เป็นพ่อเป็นแม่อยู่อีกที่หนึ่งแล้วอยากจะดูว่า บริเวณที่ลูกอยู่หรือบริเวณที่ใครก็ตามที่เรามีความห่วงใยอาศัยอยู่ เราสามารถเรียกดูได้ จากที่ไหนก็ได้ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต”

ด้าน “โก้-เกียรติสกุล” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้ว่า Nong Pim ใช้การเชื่อมต่อที่เรียกว่า NBIoT (Narrowband IoT) เพราะฉะนั้น ที่ใดก็ตามที่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ตัวนี้ก็สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลขึ้นไปยัง Cloud ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเดินสายไป ไม่จำเป็นต้องต่อ Wi-Fi ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน

“สำหรับเครื่องของเรา ทั้งสะดวกในการใช้งาน สามารถวัดค่าได้ตลอด ทำให้เรามีข้อมูลมากขึ้น เข้าถึงคนได้มากขึ้น และรู้ข้อมูลได้ละเอียดกว่า โดยเราเริ่มใช้อุปกรณ์ตัวนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ที่สถาบันนวัตกรรม ปตท. วังน้อย อยุธยา ก่อนที่จะนำมาติดตั้งที่สำนักงานใหญ่ ปตท. และเราก็ได้ขยายการใช้งานไปในกลุ่มบริษัท ปตท. แล้ว สเต็ปต่อไปก็จะเป็น Solution Provider ให้กับองค์กรข้างนอก นอกจากนั้น เรายังมองไปถึงการขายให้กับ Customer รายย่อย ติดตามบ้าน เพื่อให้เขาสามารถตรวจวัดในบ้านของเขา รู้ความเป็นไปของสภาพอากาศในบ้านของเขาตลอดเวลา”



Nong Pim ซึ่งติดตั้งตรงประตูทางเข้าออฟฟิศ ปตท.
“Nong Pim เป็นแอปพลิเคชั่นหนึ่งที่ดีและตอบโจทย์มากเลยครับ” อาร์ม-ศิระ กล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น

“เพราะสามารถไปช่วยคนให้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถเตือนผู้คนในบริเวณนั้นด้วยว่าสิ่งแวดล้อม ณ ตอนนั้นก่อให้เกิดอันตรายแล้วหรือยัง คุณควรจะต้องป้องกันตัวเองแล้วหรือยัง นอกจากนี้ก็คือเพิ่มการตระหนักว่า ทำไมฝุ่นนี้สูงขึ้นทุกปี ๆ และเราควรทำยังไงเพื่อให้มันลดลง”

“สำหรับผม การแจ้งเตือนให้คนได้ทราบล่วงหน้าในลักษณะ Early Warning เป็นสิ่งที่มีค่ามากเลยครับ” โก้-เกียรติสกุล กล่าวเสริม

“และเหตุผลจริง ๆ ที่เราทำโปรเจคต์นี้ขึ้นมา ไม่ได้หวังว่าจะได้กำไรหรือว่าสร้างรายได้มากขึ้น เพราะว่านั่นเป็นแค่ผลของการทำเท่านั้นเอง แต่เหตุผลที่แท้จริงคือ เราอยากจะให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ให้คนปรับตัว ให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ อย่างที่เคยมีข่าวว่า เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในอังกฤษเสียชีวิตด้วยโรคหืดและหัวใจหยุดเต้น ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตระบุว่ามาจากมลพิษทางอากาศ เมื่อดูสาเหตุจริง ๆ แล้วก็คือ การที่เขาและครอบครัวเขา มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลไม่เพียงพอ เพื่อจะปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสม จนนำมาสู่การเสียชีวิตในที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำให้เราประดิษฐ์ดาต้าแพลตฟอร์มตัวนี้ขึ้นมา ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตของเขาจริง ๆ ทำให้เขามีชีวิตดีขึ้น ใช้ชีวิตให้เหมาะสมได้มากขึ้น จนมีสุขภาพที่ดี ไม่นำไปสู่เรื่องร้ายแรงในอนาคต

สุดท้ายแล้ว Nong Pim น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ หรือน้อง ๆ เยาวชนที่สนใจในด้านการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม “โก้-เกียรติสกุล วัชรินยานนท์” ฝากเป็นข้อคิดในตอนท้ายว่า

“อันดับแรกนะครับ เราอาจจะไม่ใช่แค่คิดว่า เราอยากจะทำอะไร แต่เราต้องนึกถึงเหตุผลจริง ๆ ว่า ทำไมเราถึงทำสิ่งนั้นขึ้นมา ถ้าเรารู้ถึงเหตุผล เราจะมีแรงบันดาลใจในการทำหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น นอกจากตัวเราเองจะมีแรงบันดาลใจแล้ว คนที่เราจะส่งต่อเทคโนโลยีพวกนี้ให้เขาได้ใช้งาน เขาก็จะเชื่อใจเรามากขึ้น เขาจะซื้อโปรดักต์เราด้วยความเต็มใจมากขึ้น ถ้าเขารู้ว่า เหตุผลที่เราสิ่งนั้นขึ้นมา คืออะไร มันมีแรงผลักดันมากกว่าการที่เราบอกว่าเราจะทำอะไรครับ”




กำลังโหลดความคิดเห็น