xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยรอลุ้น! ก.อุตฯจ่อของบช่วยจ่ายค่าแรงงานหนุนตัดอ้อยสด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กอน.”เด้งรับนโยบาย”สุริยะ” ช่วยเหลือชาวไร่ให้ได้ราคาอ้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเล็งชงโครงการช่วยเหลือเพิ่มค่าแรงงานเพื่อหนุนการตัดอ้อยสด 80% ลดฝุ่น PM 2.5 อีกตันละ 120-130 บาท หลัง”กอน.”เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 63/64แล้วที่ 920 บาทต่อตัน ด้านชาวไร่รอลุ้นหวังรัฐอัดงบหมื่นล้านหนุน


นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เมื่อ 18 ธันวาคมได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่ระดับ 920 บาทต่อตัน(10ซีซีเอส) โดยอยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป อย่างไรก็ตามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบนโยบายที่จะให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเนื่องจากในฤดูหีบปีนี้มุ่งเน้นการตัดอ้อยสด 80% เพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 20% ในการดูแลปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5ไมครอน(PM2.5) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการตัดอ้อยเพิ่มขึ้น

“ เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังโรงงานทั้งหมดในการทดลองจ่ายค่าอ้อยดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันกอน.ได้หารือที่จะช่วยเหลือในเรื่องของค่าแรงงานที่จะสูงขึ้นจากการตัดอ้อยสด ดังนั้นจึงกำลังพิจารณาดำเนินโครงการช่วยเหลือเพิ่มค่าแรงงานประมาณ 120-130 บาทต่อตัน ซึ่งจะต่างจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่เป็นโครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะสรุปนำเสนอระดับนโยบายเพื่อเสนอครม.อนุมัติขอวงเงินสนับสนุนต่อไปส่วนวงเงินจะเป็นหมื่นล้านบาทหรือไม่คงต้องอยู่ระดับนโยบายจะพิจารณา”นายเอกภัทรกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า  เมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาหลังการประชาพิจารณ์ราคาอ้อยได้ทำหนังสือเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยเช่นปีที่ผ่านมาวงเงิน 10,000 ล้านบาทเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับชาวไร่อ้อยที่ราคาอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตไปยังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมโดยผ่านทาง นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์  โดยชาวไร่ได้เสนอให้จัดหางบประมาณสนับสนุนวงเงิน 10,000 ล้านบาทเช่นปีที่ผ่านมาเนื่องจากการตัดอ้อยสดต้องยอมรับว่ามีต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาในช่วงโควิด-19ยากลำบากทำให้ต้องใช้รถตัดอ้อยและแรงงานไทยเป็นส่วนใหญ่ซึ่งทำให้ต้นทุนสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น