รฟม.เผยผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินขยับแตะ 3 แสนเที่ยว-คน/วัน ส่วนสีม่วงเพิ่มเป็น 5.8 หมื่นเที่ยว-คน/วัน เท่ากับช่วงก่อนเกิด “โควิด-19” แต่ยังต่ำกว่าประมาณการ ที่หลังเปิดสีน้ำเงินต่อขยายคาดจะเพิ่มอีก 25-30% ย้ำลดราคาสีม่วงเหลือ 20 บาท ยาวไปไม่มีกำหนด ส่วนสีน้ำเงิน 1 ม.ค. 64 ขึ้น 1 บาทตามสัญญา
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ และขณะนี้ ได้กลับขึ้นมามีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แล้ว โดย ตั้งแต่เดือน ก.ย.- พ.ย. 2563 รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย (รวมวันหยุดเสาร์และอาทิตย์) ที่ 57,000-58,000 เที่ยว-คน/วัน ซึ่งยังต่ำกว่าการศึกษาเดิมที่ได้ประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสารไว้ที่ 120,000 เที่ยว-คน/วัน
ขณะที่ การประเมินจำนวนผู้โดยสารกรณีที่มีการเปิดเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้ MRT สายสีม่วง มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 25-30% หรือมีประมาณ 80,000 เที่ยว-คน/วัน ก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น การเดินทางจากชุมชนหรือแหล่งที่อยู่อาศัยบางจุด เข้าสู่สถานีสายสีม่วงยังไม่สะดวก รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากทางถนนสู่ระบบรางอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ตั้งแต่เดือน ก.ย.- พ.ย. 2563 มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย (รวมวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ) ที่ 300,000 เที่ยว-คน/วัน ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายครบแล้ว การเดินรถเป็นวงกลม ระยะทางรวม 48 กม. ซึ่งคาดว่าสายสีน้ำเงินจะมีผู้โดยสารที่ 600,000 เที่ยว-คน/วัน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง นอกจากนี้ ยังคงมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อยู่ด้วย
ทั้งนี้ รฟม.ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ต่อไปไม่มีกำหนด เริ่มต้นที่ 14 บาท และจ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จากอัตราปกติสูงสุด 42 บาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนมาตรการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงต่อไป ไม่มีกำหนด
ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน นั้น ตามสัญญามีการปรับค่าโดยสารตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 แต่ทั้งนี้ ทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ทำโปรโมชัน จัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมไปจนถังวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะมีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตามสัญญา คือ เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท โดยสถานีที่ 1, 4, 7 และสถานีที่ 10 จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ทุกๆ ระยะเวลา 24 เดือน (2 ปี) โดยพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)