นายกฯ กดปุ่ม เปิดทดลองเรือไฟฟ้าลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา ทดลองให้บริการฟรี เริ่ม 23 ธ.ค. 63-14 ก.พ. 64 พร้อมเปิดท่าเรือสะพานพุทธบริการอัจฉริยะ เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน เร่งคมนาคม พัฒนาการเชื่อมโยงกับระบบ รถ-ราง-เรือ ลดการใช้พลังงาน และฝุ่น PM 2.5
วันนี้ (22 ธ.ค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา AMINE SMART FERRY : “MISSION INO EMISSION” River Mass Transit โดยได้ทดลองนั่งเรือไฟฟ้าจากท่าเรือแคททาวเวอร์ ไปยังท่าเรือสะพานพุทธยอดฟ้า และเป็นประธานเปิด ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) อีกด้วย
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า (จท.) ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA พัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ผลิตด้วยฝีมือคนไทย และดำเนินการจดทะเบียนเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยปรับปรุงท่าเรือสะพานพุทธให้เป็น ท่าเรืออัจฉริยะ Smart Pier ส่งเสริมทางเลือกใหม่ในการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไร้มลพิษ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งในขณะนี้นานาประเทศล้วนให้ความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในขณะนี้ต้องเผชิญปัญหาภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งการพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า NINE Smart Ferry ลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าเรืออัจฉริยะ Smart Pier แห่งแรก ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการยกระดับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ทันสมัย สามารถช่วยลดมลภาวะฝุ่นละออง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงใต้ ได้อย่างยั่งยืน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ ในปี 2573 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับภาคเอกชน ส่งเสริม ผลักดัน ให้มี การยกระดับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะให้บริการพรีในช่วงการทดลองตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 14 กุมพาพันธ์ 2564 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับประชาชน
พร้อมกันนี้ กรมเจ้าท่า ได้พัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของประเทศ ให้สามารถรองรับทั้งการโดยสารที่ปลอดภัย การบริการทันสมัยทั้งระบบจำหน่ายบัตรโดยสารอัจฉริยะ และป้ายแจ้งเวลาเดินเรืออัจฉริยะ พร้อมทั้งการออกแบบท่าเรือตามหลักอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ผนวกกับการเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งสาธารณะทางบกเป็นการส่งเสริมการเดินทางทางน้ำ
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า กรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าฟรี มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนโดยมีแผนพัฒนาเส้นทางการให้บริการจริงจากท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้าถึงท่าเรือสาทร ให้เกิดความเชื่อมโยงกับระบบ รถ-ราง-เรือ อาทิ เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า BTS / MRT และรถโดยสารสาธารณะตามนโยบายการคมนาคมไร้รอยต่อ (Seamless Transportation)
ส่วนการพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา นำร่อง ท่าเรือสะพานพุทธ โดยปรับรูปโฉมภายในให้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย ทันสมัย รองรับการเดินทางท่องเที่ยววิถีโหม่ยุค New! Normal พร้อมเป็น Smart Pier แห่งแรกในประเทศไทย
ได้แก่ เครื่องแสกนอุณหภูมิอัตโนมัติ, ป้ายอัจฉริยะ แจ้งเวลาเรือเข้าเทียบทำ, เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ ระบบตรวจสอบ เส้นทางการเดินเรือ และตารางเรือ, ระบบความปลอดภัยและตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละวัน, ระบบไฟส่องสว่างด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ตลอดจนมีความเป็นอารยสถาปัตย์ Friendly Design ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยได้รับการสนับสนุนการสร้างสุขาสาธารณะ ทั้งห้องสุขาชาย-หญิง และห้องสุขาสำหรับผู้พิการ จากมูลนิธิเอสซีจี (SCG) เพื่อร่วมสร้างความมั่นใจในการเป็นท่าเรืออัจฉริยะเพื่อคนทั้งมวล
นาวาโท ปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า ช่วงทดลองจะเปิดให้บริการเรือไฟฟ้าฟรี 2 เดือน จากท่าเรือสะพานพระราม 5 ถึง ท่าเรือสาทรเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2563 - 14 ก.พ. 2564 โดยแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือ วันจันทร์-ศุกร์ ให้บริการฟรีจอดรับส่งผู้โดยสาร บริเวณท่าเรือ 11 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 พระราม 7 เกียกกาย บางโพธิ์ เทเวศร์ พรานนก ปากคลองตลาด ราชวงศ์ กรมเจ้าท่า แคททาวเวอร์ และสาทร ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ จะให้บริการฟรี เฉพาะท่าเรือที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าช้าง วัดอรุณฯ วัดกัลยาณมิตร กรมเจ้าท่า และท่าแคททาวเวอร์
โดยจะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2564 อัตรา 20 บาทตลอดสาย เป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นจะคิดค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอให้กรมเจ้าท่าพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม
ส่วนการให้บริการระยะต่อไป จะทยอยเปิดเส้นทางเพิ่มภายในเดือน เม.ย. 2564 ประกอบด้วย 1. Urban line เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มที่สถานีพระนั่งเกล้า-สาธร 2. Metro line เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มที่สถานีพระราม และ 3. City line เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสาทร และครบทุกสาย ภายในเดือน พ.ค. 2564
โดยจะมีการนำเรือมาให้บริการจํานวนทั้งสิ้น 27 ลำ ซึ่งขณะนี้ต่อเสร็จแล้ว 6 ลำ และจะครบทั้ง27 ลำ ในเดือน เม.ย. 64 และเดือน พ.ค. 64 เป็นการบริการเต็มรูปแบบ
สำหรับเรือไฟฟ้าในโครงการ เป็นเรืออะลูมิเนียมชนิด Catamaran ความยาวตลอดสำเรือ 23.97 เมตร กว้าง 7 เมตร ลึก 2.30 เมตร กินน้ำลึกบรรทุก 1.30 เมตร ให้การทรงตัวที่ดี ความเร็วน้อย ประหยัดพลังงาน ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไร้มลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียง ห้องโดยสารปรับอากาศ กว้างขวางขึ้น-ลงสะดวกสบาย ทันสมัย และปลอดภัย สามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 250 คน ความเร็วเดินทางขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนในเวลานั้น โดยมีความเร็วสูงสุด 16 นอต นอกจากนี้ ได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟแบบ DC Fast Charge ระดับ 4-C สามารถชาร์จเร็วภายใน 15 นาที ความจุแบตเตอรี่ Li-Ion 768 kW-hr เวลาสำหรับใช้งานต่อการชาร์จ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเดินเรือ