การตลาด - OTT 10,000 ล้านบาทยังทะยานสู่ลมบนต่อเนื่อง เบียดทีวีเจ้าบัลลังก์เตรียมตกกระป๋อง ผู้ผลิตคอนเทนต์รวมถึงสถานีโทรทัศน์เกือบทุกรายแห่ส่งคอนเทนต์สู่แพลตฟอร์ม OTT มองเป็นน่านน้ำแห่งใหม่ในการโกยรายได้ บาลานซ์สถานการณ์ทีวีขาลง กระดานศึกครั้งนี้สู้กันยิบตา โจทย์ใหม่จะเกิดบน OTT ต้องมีคีย์คอนเทนต์ที่น่าจดจำ “เซ้นส์” เปิดเกมรุก ทุ่ม 1.2 หมื่นล้านคว้าลิขสิทธิ์ลีกไทยหวังเกิดบน OTT “ทีวีธันเดอร์” เดินเกมสายวายบน OTT “ช่อง 8” ปัดฝุ่นหนังในกรุโผล่ iQIYI และ “ทรูไอดี” อุบเซอร์ไพรส์ปีหน้ามีว้าว
ทิศทางการรับชม OTT กำลังเป็นที่นิยมสูงขึ้นทั่วโลก เห็นได้จากจีนที่สัดส่วนรับชม OTT แซงหน้า TV ไปแล้ว ตามมาด้วยบราซิล การรับชมทีวีน้อยกว่า OTT 30% รวมถึงประเทศไทยที่คาดว่าในอีก 3 ปีสัดส่วนการรับชม OTT จะเท่ากับทีวี จากปี 2561 การรับชม OTT อยู่ที่ 30% และทีวีอยู่ที่ 70% หรือปัจจุบัน OTT ในไทยมีมูลค่าทะลุ 10,000 ล้านบาท และมีผู้ให้บริการไม่ต่ำกว่า 10 ราย
จะเห็นได้ว่าปี 2563 นี้เป็นปีที่ตลาด OTT มีความคึกคักอย่างมาก เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์รวมถึงสถานีโทรทัศน์หลายรายปรับกลยุทธ์หันมาให้ความสำคัญต่อช่องทาง OTT มากยิ่งขึ้น ส่วนสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในวันที่ทีวีอยู่ในช่วงขาลง จากพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปหันไปดูบนแพลตฟอร์ม OTT มากขึ้น ทำให้ฐานผู้ชมทีวีลดลง เรตติ้งและรายได้จึงลดลงตามไปด้วย
นายกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาด OTT
เฉพาะในประเทศไทยการรับชมคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์จะโตขึ้น 15% ในปี 2024 จากปี 2018 โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ประเภท AVOD (Ad-Supported VDO on Demand) จะเติบโตต่อเนื่องกว่า 50% หรือเกือบเทียบเท่าฐานผู้ชมบนทีวี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 กระตุ้นให้ผู้ชมปรับตัวหันมาชมคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจาก LINE TV ที่มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 43% และใช้เวลาดูนานขึ้นรวม 43% ด้วยเช่นกัน
*** “เซ้นส์” ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน ชูสปอร์ตคอนเทนต์บุก OTT
ขณะที่ด้านผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศนั้นก็จะถูกดึงฐานผู้ชม โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกซึ่งมีโปรดักชันคอนเทนต์ขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน
นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ในไทยต้องมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่ เช่น บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ร่วมกับพาร์ตเนอร์ EVEVEN SPORTS ที่เป็นบริษัท Global Sports Media Service ผู้นำด้านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันด้านกีฬาระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ประกาศถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นระยะ 8 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021-2028 (พ.ศ. 2564-2571) ด้วยมูลค่า 9,600 ล้านบาท หรือปีละ 1,200 ล้านบาท พร้อมทุ่มงบเพิ่มเติมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการถ่ายทอดสดกับการสร้างแพลตฟอร์ม OTT ขึ้นใหม่ และผลิตรายการใหม่อีก 300 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันพฤติกรรมคนดูทีวีเปลี่ยนไป หันไปดูแบบย้อนหลังมากขึ้น ทำให้เรตติ้งรายการลดลงเรื่อยๆ เห็นได้จาก 5 ปีก่อนบริษัททำรายการเข้าช่อง 7 ครั้งแรก คือรายการ The Money drop Thailand เรตติ้ง 10.8 แต่ปัจจุบันในภาพรวมรายการวาไรตีทั้งหมดสูงสุดมีเรตติ้งไม่เกิน 5 จะเห็นว่าเรตติ้งการรับชมลดลงเรื่อยๆ และในวันนี้เรตติ้งจะดีก็ไม่ใช่ว่าจะขายโฆษณาได้ เพราะลูกค้าต่างจำกัดงบโฆษณาลงตามสภาพเศรษฐกิจ” นายวราวุธ เจนธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด กล่าวถึงจุดเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจจากเน้นบนสื่อทีวี เพื่อเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นบน OTT
*** “ทีวีธันเดอร์” เดินสายวาย ยึดพื้นที่ OTT
ทีวีธันเดอร์ ถือเป็นอีกรายที่คร่ำหวอดในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์มานาน เป็นรายต้นๆ ที่พลิกเกมเร็ว ฝ่าสถานการณ์ทีวีขาลงมาได้ จากที่ชิมลางส่งซีรีส์สายวายบน OTT มาสักระยะ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
นายณฐกฤต วรรณภิญโญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาให้ความสำคัญต่อช่องทาง OTT ตั้งแต่ 3 ปีก่อน ทั้ง AIS play และไลน์ทีวี ปัจจุบันได้ขยายไปในหลายๆ แพลตฟอร์มมากขึ้น อย่าง WeTV, NetFlix, POPS และ Viu ส่วนหนึ่งเกิดจากโควิด-19 ที่ช่วยเร่งให้ OTT ในไทยเติบโตได้เร็วขึ้น และทำให้ตลาดคอนเทนต์ไทยมีความต้องการสูงขึ้นในแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งทีวีธันเดอร์ถือเป็นเบอร์แรกๆ ที่กลุ่ม OTT เข้ามาเจรจาพูดคุยให้ผลิตคอนเทนต์ให้ โดยเฉพาะซีรีส์ ส่งผลให้ปีนี้ไปจนถึงปีหน้าบริษัทจะเน้นผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ในช่องทาง OTT เป็นหลัก รวมกว่า 7 เรื่อง เช่น Manner of Dead พฤติการที่ตาย ซึ่งเป็นซีรีส์สายวาย ป้อนให้ทาง WE TV
ทั้งนี้ ซีรีส์วายของทีวีธันเดอร์ถือเป็นรายแรกๆ ที่เกิดขึ้นในไทยราว 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์ม OTT และดังในต่างประเทศอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในจีน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นต้น
*** “ช่อง 8” ส่ง “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” ชิมลาง OTT
ล่าสุดกับทางช่อง 8 ที่เน้นขายของอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ประมาทกับกระแส OTT ที่มาแรง จึงได้จับมือกับทาง iQIYI (อ้ายฉีอี้) แพลตฟอร์ม OTT รายใหญ่ของจีน ปัดฝุ่นคอนเทนต์เก่า เขย่าใหม่ลงจอ ประเดิม “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” ในรูปแบบซีรีส์
“ตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญต่อแพลตฟอร์ม OTT มากขึ้น หลังจากพบว่าปัจจุบันพฤติกรรมและช่องทางการรับชมคอนเทนต์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้ให้บริการด้านวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ OTT กลายเป็นสื่อที่น่าจับตามองที่สุด เนื่องจากได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคยุคใหม่ ที่มีข้อได้เปรียบในการเข้าถึงได้ง่ายและนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินกับบริการสตรีมมิ่งไม่ว่าเมื่อใดหรือที่ไหนก็ได้โดยไม่จำกัด จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ที่ยืดหยุ่นในยุคดิจิทัล” นางสาวนงลักษณ์ งามโรจน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ในเครืออาร์เอส กรุ๊ป กล่าวถึงสาเหตุหันมารุก OTT ในครั้งนี้
ล่าสุดช่อง 8 ส่งผลงานเรื่อง ‘โลกทั้งใบให้นายคนเดียว’ ในรูปแบบซีรีส์ ลงจอช่อง 8 และ iQIYI (อ้ายฉีอี้) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์อันดับ 1 จากประเทศจีน สามารถดูออนไลน์ได้พร้อมกันทั่วโลก และเว็บไซต์ iQ.com ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.40 น. เริ่มตอนแรก 12 ธันวาคมนี้ รวม 12 ตอน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ และครั้งแรกที่คอนเทนต์ไทยจากช่อง 8 จะได้ออกอากาศพร้อมกันทั่วโลก
สำหรับแผนการรุก OTT กับทาง iQIYI เบื้องต้นจะเป็น 10+1 กล่าวคือ ซีรีส์โลกทั้งใบให้นายคนเดียว 1 เรื่อง และภาพยนตร์ไทยในตำนานจากอาร์เอส 11 เรื่อง เช่น แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า, Sex Phone คลื่นเหงาสาวข้างบ้าน, มือปืน/โลก/พระ/จัน, ล่องจุ๊น ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน, เกิดอีกทีต้องมีเธอ รวมถึงโลกทั้งใบให้นายคนเดียว นำแสดงโดย เต๋า-สมชาย, นุ๊ก-สุทธิดา และ โมทย์-ปราโมทย์
การจับมือกับทาง iQIYI เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ทางช่อง 8 ได้วางแผนนำภาพยนตร์ของอาร์เอสที่เคยโด่งดังในอดีตเป็นตัวเสริมทัพในการจับมือกับพันธมิตร OTT ชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมการบริหารธุรกิจคอนเทนต์ของช่อง 8 มีรายได้ที่เติบโตจากปี 2563 เพิ่มขึ้น 20% เป็นอย่างต่ำ
*** “ทรูไอดี” อุบไต๋คอนเทนต์ใหม่กรำศึก OTT ปีหน้า
ด้านเจ้าตลาด OTT ของไทยกับทางทรูไอดี ซึ่งปัจจุบันทรูไอดีทีวีเป็นกล่อง OTT ทีมีสมาชิกมากที่สุดในไทย และเติบโตมากเป็นอันดับหนึ่งในโลก ข้อมูลจากทีม Android TV ของ Google โดยเทียบกับกล่องแอนดรอยด์อื่นในโลกที่ได้รับรองมาตรฐานจาก Google เหมือนกัน
นางสาวปิยนุช มีมุข Head of TrueID Commercial บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางการแข่งขันของ OTT ที่รุนแรงมากขึ้น จุดขายของทรูไอดี คือกล่องทรูไอดีทีวีเป็นกล่องแอนดรอยด์ทีวีแท้ มาตรฐาน Google ที่ใช้ได้กับเน็ตบ้านทุกค่าย มาพร้อมฟีเจอร์ครบครันทั้ง Chromecast โยนคอนเทนต์จากมือถือขึ้นจอ, สามารถค้นหารายการด้วยเสียงภาษาไทย ผ่านรีโมต และที่สำคัญเป็นกล่องแอนดรอยด์รายเดียวที่มี Kids mode ที่จะช่วยป้องกันคอนเทนต์อันตรายต่อลูกของคุณได้ด้วย ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจกับการดูคอนเทนต์ของลูกมากขึ้น
ส่วนคอนเทนต์ก็มีครบครัน แต่มากกว่านั้นยังเป็น Partner กับ Content provider รายใหญ่ของโลกอย่าง Netflix ทำให้ลูกค้าสามารถรับชม Netflix ผ่านกล่องนี้ได้ ถึงแม้ทีวีที่บ้านไม่ใช่ Smart TV ด้วยกล่องทรูไอดีทำให้ลูกค้าถ้าอยากจะรับชมคอนเทนต์อื่นๆ ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ต้องการผ่าน Google play store ได้เลย
ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถรับชมช่องฟรีทีวีและช่องรายการต่างๆ อีกมากมายกว่า 80 ช่อง และยังสามารถรับชม พรีเมียร์ลีกฟรีสูงสุด 2 คู่ต่อสัปดาห์ผ่านช่อง id station ได้อีกด้วย ส่วนหนัง ซีรีส์ไทย ซีรีส์เกาหลี การ์ตูนสำหรับเด็ก และเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์เราก็มีรวมให้ลูกค้าดูมากกว่า 1,000 รายการแบบฟรีๆ ส่วนหนังใหม่ หนังดังจาก 6 สตูดิโอชั้นนำของโลก มีมาให้ดูก่อนใคร ราคาเริ่มต้นต่อเรื่องเพียง 29 บาท หรือลูกค้าทรูที่มีทรูพอยท์สามารถใช้ทรูพอยท์แลกรับชมฟรีได้เลยเริ่มต้นที่ 99 ทรูพอยท์เท่านั้น
“ปัจจุบันภาพรวม OTT ของทรูไอดีทีวีสิ้นสุดไตรมาส 2/63 มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านสมาชิก ซึ่งเราจะไม่หยุดพัฒนากล่องทรูไอดีทีวี ทั้งในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน และคอนเทนต์รายการที่ตอบโจทย์ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งในไตรมาสแรกปีหน้าจะมีอะไรที่น่าตื่นเต้นมาให้ลูกค้าอีก ต้องรอติดตาม” นางสาวปิยนุชกล่าว