เมื่อถามถึงจุดเด่นของประเทศไทย หลายคนอาจนึกถึงรอยยิ้มและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ความจริงแล้วยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีไม่แพ้รอยยิ้มและวัฒนธรรม นั่นก็คือ “นวัตกรรม”
เราได้เห็นไอเดียและความพลิกแพลงเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนไทยมากมาย โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต เช่น น้ำท่วม หรือในเหตุการณ์ล่าสุดคือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ รถเข็นเคลื่อนย้ายแรงดันลบ เครื่องช่วยหายใจ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อเบื้องต้นจากน้ำลายที่รู้ผลใน 1 ชั่วโมง รวมถึงระบบสุขภาพทางไกล หรือ Telehealth ที่ทำให้คนไทยปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล
ความจริงแล้วนวัตกรรมของไทยไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น แต่คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมมาโดยตลอด มีการต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากมาย นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ริเริ่มแคมเปญ Innovation Thailand ขึ้นมา เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของประเทศไทยด้วยภาพลักษณ์ใหม่ด้านนวัตกรรม และชักชวนคนไทยให้มารับรู้และภาคภูมิใจในนวัตกรรมของไทย
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “คนไทยนำความรู้ที่สั่งสมมาผสมผสานการมองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน และใส่ใจในรายละเอียด คิดค้น ต่อยอด และหล่อหลอมจนเกิดเป็น นวัตกรรมที่ทำให้การใช้ชีวิตดีขึ้น หรือที่เรียกว่า Innovation for Crafted Living ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย โดยสามารถแบ่งออกได้ 7 ด้าน คือ Healthy Living นวัตกรรมเพื่อสุขภาพดีที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษา แต่รวมไปถึงการป้องกัน Easy Living นวัตกรรมเพื่อให้ผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้นและเท่าเทียมกับคนปกติ Smart Living นวัตกรรมเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งพลังงานสะอาด การกำจัดขยะ ลดมลพิษ และคิดเผื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน Connected Living นวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกันสร้างเป็นเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดช่องว่างทางความคิด Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย ครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้าน Wealthy Living นวัตกรรมที่สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และ Happy Living นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และสันทนาการ เพื่อทำให้ชีวิตผ่อนคลายและมีความสุข
“ภายใต้แคมเปญ Innovation Thailand นี้ NIA ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมไทยที่น่าสนใจผ่าน https://www.innovationthailand.org/th/ เพื่อให้คนไทยได้รับรู้และร่วมกันภาคภูมิใจในนวัตกรรมไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก นอกจากนี้ NIA ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวแทนคนไทยด้านนวัตกรรม 7 คน มาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรม 7 ด้าน ผ่านคลิปวิดีทัศน์ 7 เรื่อง ซึ่งนับเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของตัวแทนคนไทยด้านนวัตกรรมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยสร้างมุมมองใหม่และยกระดับภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทยให้คนไทยได้รับรู้และภาคภูมิใจ” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
นวัตกรรมด้าน Healthy Living ถูกถ่ายทอดผ่าน ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้สร้างแอปพลิเคชัน OOCA, นวัตกรรมด้าน Easy Living ถ่ายทอดผ่าน คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน PANNANA เพื่อผู้พิการทางสายตา, นวัตกรรมด้าน Smart Living ถ่ายทอดผ่าน ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Little Big Green, นวัตกรรมด้าน Connected Living ถ่ายทอดผ่าน คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), นวัตกรรมด้าน Safe Living ถ่ายทอดผ่าน 5Lab ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Covid Tracker แสดงผลพื้นที่ติดเชื้อ COVID-19, นวัตกรรมด้าน Wealthy Living ถ่ายทอดผ่าน คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้ก่อตั้งเพจและพอดคาสต์ MISSSION TO THE MOON และนวัตกรรมด้าน Happy Living ถ่ายทอดผ่าน ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้บุกเบิกมิวสิกเฟสติวัลเมืองไทย ซึ่งตัวแทนด้านนวัตกรรมทั้ง 7 คนได้กล่าวถึงนวัตกรรมในมุมมองของตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ
ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมว่า “โลกของเราก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดพัฒนาแปลว่าเรากำลังถอยหลัง นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ สำหรับประเทศไทยถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องนี้โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านสุขภาพ เรามีสตาร์ทอัพไทยที่อยากช่วยเหลือให้ผู้คนมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น เรามีการพัฒนา HealthTech มานานแล้ว เรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาค จึงอยากฝากให้คนไทยลองหันกลับมามองดูกันว่าเรามีนวัตกร และนักคิดหลายคนได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันหรือระบบ Telemedicine ที่เกี่ยวกับการนัด การเข้าคิว และยังมีการสร้างอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วย การสร้างกระดูกเทียม และยังมีนวัตกรรมเชิงสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งน่าสนใจและน่าภูมิใจมาก”
ทางด้าน คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล มีมุมมองต่อนวัตกรรมว่า “นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก เพียงแค่เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น ปัญหาสังคมส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปัญหาเรื่องตัวบุคคล ซึ่งเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกแบบ การออกแบบที่มีคุณค่าจะทำให้ชีวิตคนดีขึ้น สิ่งนี้คือนวัตกรรม อย่างเรื่องคนพิการ จริงๆ แล้วคนพิการไม่มีอยู่จริง มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ การที่คนอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่มีการออกแบบมารองรับ ทำให้คนพิการ ส่วนตัวคิดว่าคนไทยเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มาก ดูอย่างในช่วงน้ำท่วม เราเห็นนวัตกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ต่อขา การนำขวดน้ำมาทำเป็นแพ หรือรถที่ต่อท่อสูงๆ ช่วงที่มีปัญหาเป็นตัวชี้ชัดว่าคนไทยมีความคิดที่เป็นนวัตกรรมสูงมาก”
นวัตกรรมไทยเป็นสิ่งที่คนไทยควรภาคภูมิใจ ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ จึงได้ชักชวนให้คนไทยมาร่วมภูมิใจ โดยกล่าวว่า “ประเทศไทยมีไอเดียเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม ส่วนตัวสังเกตว่าความขาดทำให้เราคิดเยอะขึ้น อย่างเมื่อก่อนเราเป็นเด็กนิเทศศาสตร์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องขาดแคลนกล้อง ก็เลยต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะใช้กล้องที่มีให้คุ้มค่าที่สุด ไม่มีไฟก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้แสงสวยในขณะที่มีไฟดวงเดียว อีกเรื่องที่ต้องชื่นชมคือความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวให้กลายเป็นของที่ใช้งานได้จริง อย่างชามที่คนไทยทำจากวัสดุธรรมชาติ เวลาเพื่อนต่างชาติมาเห็นแบบนี้เขาจะรู้สึกว่าเจ๋งมาก อยากให้คนไทยภูมิใจกับไอเดียแนวคิดที่มีมากมายของคนไทย ลองมาติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมของไทยแล้วจะได้เห็นความคิดมากมายที่เจ๋งมากๆ”
ทางด้าน คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ได้พูดถึง Mindset ในการพัฒนานวัตกรรมว่า “นวัตกรรมคือสิ่งที่ทำให้โลกเคลื่อนไหว จริงๆ แล้วนวัตกรรมเป็นเรื่องเบสิกมาก ถ้าเราเป็นชาวไร่ชาวนา วิธีเก็บน้ำก็เป็นนวัตกรรม นวัตกรรมอยู่กับเรามาตลอด แต่ในยุคดิจิทัลแบบนี้ ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมเร็วขึ้น ส่วนตัวคิดว่านวัตกรรมอยู่ในสายเลือดคนไทย นวัตกรรมต้องเป็น Mindset จากตัวเราที่ตื่นมาเราต้องรู้สึกอยากเรียนรู้ อยากรู้ อยากเห็น อยากพัฒนา อยากทำให้ดีขึ้น ขอให้เรามี Mindset ที่ดีและเป็น Mindset เชิงบวก เพราะถ้าเรามี Mindset ลบก็จะเกิดนวัตกรรมทางลบ เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ก่อการร้าย คุณก็จะครีเอตเชื้อโรคมาฆ่ามนุษย์ หรือไปดัดแปลง DNA ของไวรัส เพราะฉะนั้นนวัตกรรมต้องเริ่มต้นที่ความคิดในเชิงบวก”
สำหรับเทรนด์ด้านนวัตกรรมในอนาคตนั้น ทาง 5labs มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “นวัตกรรมคือการที่เราคิดอะไรใหม่ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน เพื่อให้สิ่งที่เราใช้อยู่หรือการใช้ชีวิตของเราดีขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนคิดว่าพวกเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันสร้างนวัตกรรมด้วยวิถีที่เราสามารถทำได้ คนไทยมีนวัตกรรมที่หลากหลายแต่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก คนอาจจะคิดว่านวัตกรรมต้องเป็นภาพใหญ่ เป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วเราเริ่มจากเล็กๆ ได้ อยากให้ทุกคนออกมาคิดและลงมือทำกันให้มากขึ้น สำหรับมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์นวัตกรรมในอนาคต คิดว่านวัตกรรมที่จะเป็นเทรนด์คือนวัตกรรมเรื่องการใช้ชีวิตและสุขภาพ เช่น นวัตกรรมเกี่ยวกับอาหาร เทคโนโลยีทางการเกษตร หรือพวก HealthTech ต่างๆ”
นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ได้ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ รวิศ หาญอุตสาหะ ได้ชี้ให้ถึงความสำคัญของนวัตกรรมในแง่เศรษฐกิจว่า “นวัตกรรมสำคัญต่อประเทศ เป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศว่าจะไปอย่างไรต่อ จะสร้างรายได้อย่างไร จะเติบโตทัดเทียมต่างชาติได้อย่างไร ถ้าเราดูประเทศที่เขาเน้นนวัตกรรมจะเห็นว่าเขาเติบโตเร็ว แล้วสามารถต่อยอดได้ด้วย การมีนวัตกรรมไม่ใช่แค่มี 1 รอบแล้วจบ แต่ต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ เวลามีของใหม่เกิดขึ้น ก็จะเกิด Supply Chain ใหม่ อาชีพใหม่ รายได้ใหม่ ถ้านวัตกรรมนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้ รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ประเทศไทยเองก็มีโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อีกหลายอย่าง เชื่อว่าคนไทยเรามีความสามารถที่จะทำได้ สิ่งสำคัญที่เราเห็นในต่างประเทศคือคนในประเทศเขาสนับสนุนโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ก็อยากเห็นเมืองไทยเป็นแบบเดียวกัน”
ปิดท้ายกับ ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ที่มาบอกเล่าถึงนวัตกรรมในวงการบันเทิงว่า “คนไทยมีความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมหรือมีแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับวงการบันเทิงนานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องอาศัยความพลิกแพลงมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือรถแห่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเป็นรถกระบะที่มีป้ายโฆษณาแล้วเปิดเสียงดังๆ แต่รถแห่ปัจจุบันมาในรูปรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีเวทีที่นำวงดนตรีขึ้นไปแสดงบนนั้นได้เลย อย่างในสถานการณ์โควิด-19 ก็มี Virtual Concert แต่ต้องแยกให้ออก นวัตกรรมไม่ใช่เทคโนโลยี มันกว้างกว่านั้น นวัตกรรมว่าด้วยเรื่องแนวคิดที่จะแก้ปัญหาและเอามาปรับใช้ได้จริง บ้านเราเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ลองมองไปรอบตัวจะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่กับเราตั้งแต่เด็ก อยากให้ทุกคนมองนวัตกรรม มองไปที่ตัวเองว่ามีปัญหาอะไรอยู่รอบตัวบ้าง แล้วใช้แนวคิดใหม่มาแก้ปัญหา เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเราได้สร้างนวัตกรรมแล้ว”
ผู้สนใจสามารถชมคลิปวิดีทัศน์ทั้ง 7 เรื่อง และรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมไทยที่น่าภาคภูมิใจได้ที่ https://www.innovationthailand.org/th/ หรือ FB: Innovation.THA