กนอ.จับมือ กฟภ.เตรียมศึกษาติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่งรวม 60 เมกะวัตต์ คาดลงทุน 1,800-2,400 ล้านบาท ทั้งนิคมฯ มาบตาพุด นิคมฯ สงขลา นิคมฯ ภาคเหนือ (ลำพูน) นิคมฯ แก่งคอย จ่อนำร่องมาบตาพุด 20 เมกะวัตต์ ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท หวังจ่ายไฟปี 64 “สุริยะ” หนุนขับเคลื่อนรับทิศทางโลกโดยเฉพาะนโยบาย “โจ ไบเดน”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมด้วยระบบทิจิทัลและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่า กฟภ.จะศึกษาเพื่อลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอ่างเก็บน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ของ กนอ. นำร่องในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขนาด 20 เมกะวัตต์ จากนั้นจะขยายไปยังนิคมฯ อื่นๆ ที่มีความพร้อมในเรื่องของอ่างเก็บน้ำของ กนอ. โดยเบื้องต้นมี 4 แห่งที่มีศักยภาพ ซึ่งนับเป็นนโยบายในการส่งเสริมพลังงานสะอาดที่สอดรับกับทิศทางของพลังงานโลก โดยเฉพาะนโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
“โจ ไบเดน ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมาก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเองมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องส่งเสริมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และยังรวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเน้นในเรื่องของ BCG (Bio, Circular, Green) ที่จะต้องมุ่งอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต” นายสุริยะกล่าว
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ให้ความสำคัญต่อนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะรวมถึงการพัฒนาพลังงานสะอาดในนิคมฯ โดยเบื้องต้นจะมี 4 นิคมฯ ที่มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ได้แก่ นิคมฯ มาบตาพุด, นิคมฯ สงขลา (ฉลุง), นิคมฯ ภาคเหนือ (ลำพูน) และนิคมฯ แก่งคอย จ.สระบุรี โดยเบื้องต้นจากการศึกษาอ่างเก็บน้ำที่จะติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟได้ทั้งหมดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 60 เมกะวัตต์ ซึ่งขนาดอ่างเก็บน้ำในมาบตาพุดคาดผลิตได้ราว 20 เมกะวัตต์ ส่วนสงขลาฯ 30 เมกวัตต์
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ.จะเป็นผู้ลงทุนหลักและอาจจะมีการเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนา เบื้องต้นจะนำร่องที่นิคมฯ มาบตาพุด 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มติดตั้งและจำหน่ายไฟให้แก่โรงงานในนิคมฯ และจ่ายเข้าระบบได้ภายในปี 2564 จากนั้นจึงจะทยอยติดตั้งในอีก 3 นิคมฯ ที่มีศักยภาพ โดยเม็ดเงินลงทุนเฉลี่ย 1 เมกะวัตต์เท่ากับ 30-40 เมกะวัตต์ หากติดตั้งทั้งหมด 60 เมกะวัตต์คิดเป็นเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,800-2,400 ล้านบาท