xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ปลื้มเขตประกอบการอุตฯ ไทยอีสเทิร์นขับเคลื่อนลงทุน “อีอีซี”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ปลื้มเปิดเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น (ชลบุรี) ขึ้นระดับชั้นนำ BCG Complex เตรียมลงทุนใหม่กว่า 20,000 ล้านบาท จ้างงานใหม่ 8,000 อัตรา สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรไทยหนุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายและลงทุนในอีอีซี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังการตรวจเยี่ยมโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น (ชลบุรี)
 กล่าวว่า เขตประกอบการอุตสาหกรรมดังกล่าวเน้นแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในเอเชีย Asia Leading Bio Circular Green Complex (BCG Complex) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศตั้งให้เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมลำดับที่ 26 ของประเทศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ถือเป็นความสำเร็จที่ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันผลักดันเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลหลายด้าน คือ 1. การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) สาขาเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 3. การเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม และ 4. เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เต็มรูปแบบ

“ภายในประกอบด้วยโรงงานเกษตรแปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา และพลังงานทดแทน พร้อมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากทะลายปาล์ม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของรัฐบาลในพื้นที่อีอีซี โดยใช้ศักยภาพที่ไทยมีคือการเป็นผู้นำด้านผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น” นายสุริยะกล่าว

นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม S-Curve สาขาเกษตรชีวภาพขนาดใหญ่ลำดับแรกของประเทศ ซึ่งมีการลงทุนใหม่กว่า 20,000 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่กว่า 8,000 อัตราภายใน 3 ปี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 2.5 ล้านไร่

นายสมชาย โกกนุทาภรณ์ ประธานกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น กล่าวว่า “บริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น ตั้งอยู่บนถนนสาย 344 ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่โครงการกว่า 725 ไร่ แบ่งโซนออกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมกว่า 510 ไร่ และพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียวกว่า 215 ไร่

“โครงการนี้สามารถรองรับพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชพลังงาน อาหาร ผลไม้ พืชสมุนไพร และวัตถุดิบอื่นๆ ทางชีวภาพ เชื่อมโยงเกษตรภาคตะวันออก กลาง อีสาน เหนือ และภาคใต้ตอนบน เป็นศูนย์กลางของการสร้างบุคลากรเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพขั้นปลายในอนาคต และเป็นศูนย์กลางบูรณาการด้านเกษตรชีวการแพทย์ระดับ Bio Medical Hub (ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยา เครื่องสำอาง อาหารจากเกษตรชีวภาพ)” นายสมชายกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น