xs
xsm
sm
md
lg

เทสโก้โลตัสกลับสู่ซีพี โอกาสคู่ค้า เชื่อมไทย เชื่อมโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปลาใหญ่ในบ่อเล็ก แต่กลับเป็นปลาเล็กในมหาสมุทรใหญ่” ยุคนี้ยากที่จะหาแชมป์ที่ยาวนาน เก้าอี้ผู้นำเปลี่ยนมือตลอดเวลา โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังอยู่ในสงครามการค้าที่ไร้ขอบเขต จนเราอาจนึกไม่ถึงว่าทุกประเทศรอบตัวเราล้วนมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ขยายตัวกันอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นกันชนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทยมีร้านโชวห่วยทั้งสิ้น 438,000 ร้านค้า (95.6%) ร้านสะดวกซื้อ 17,205 ร้านค้า (3.75%) ตลาดสด 1,287 ร้านค้า (0.28%) ซูเปอร์มาร์เกต 1,200 ร้านค้า (0.26%) ไฮเปอร์มาร์ท 352 ร้านค้า (0.08%) และ Cash&Carry 129 ร้านค้า (0.03%) ในอดีตจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกที่เป็นรีเทลขนาดใหญ่ แบรนด์ชั้นนำกลับมีเจ้าของเป็นต่างประเทศ ทว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมาสถานการณ์กลับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะทุนต่างชาติทยอยถอนทัพจากไทยจากเอเชียกลับบ้านเกิดทั้งหมดแล้ว เนื่องจากหลายสาเหตุแตกต่างกันไปแต่ละค่าย แต่สรุปปัญหาหลักๆ ก็คือ โดนพิษเศรษฐกิจของโลกเล่นงาน ต้องการลดต้นทุนควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการโฟกัสตลาดบางภูมิภาค เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยยังถือว่าการที่ “เครือซีพี” เข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย เป็นการเปลี่ยนมือเจ้าของจากสหราชอาณาจักรกลับมาสู่มือคนไทยอีกครั้ง เป็นกันชนทางเศรษฐกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติที่จะนำเข้าสินค้ามาแข่งกับคนไทย นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัสเองก็เคยเป็นลูกที่พลัดพรากของซีพีมาก่อนหลังขายออกไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้การได้คืนกลับมาในช่วงวิกฤตโควิด ต้องมาคิดว่าหากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะติดปีกให้เทสโก้อย่างไรให้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ พร้อมกับยกระดับเอสเอ็มอี และคู่ค้าไปพร้อมๆ กัน

วันนี้ทุกประเทศในโลกล้วนมีบริษัทใหญ่ไว้เป็นกันชนในสงครามการค้า สำหรับประเทศไทยแล้ว หลายคนคงนึกถึงกลุ่มซีพีที่ปัจจุบันทำธุรกิจในกว่า 22 ประเทศทั่วโลก และลงทุนในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียวซีพีจ่ายภาษีให้รัฐถึงปีละกว่า 16,000 ล้านบาท แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าซีพีไม่ได้เป็นปลาใหญ่อย่างที่ใครๆ คิด หากเทียบกับบริษัทเกิดใหม่หลายบริษัทในอาเซียน เช่น การีน่า สตาร์ทอัพใหญ่สุดในอาเซียน เจ้าของอาณาจักรเกมแสนล้านของสิงคโปร์ หรือในประเทศข้างเคียงคือ VNG ของเวียดนามที่เป็นยูนิคอร์นยุคเริ่มต้น เป็นต้นแบบให้แก่หลายสตาร์ทอัพ Grab ของมาเลเซีย หรือ Go-Jek ของอินโดนีเซีย ยังไม่นับบริษัทยักษ์ใหญ่นอกอาเซียน อย่างอาลีบาบา และเทนเซ็นต์ 2 แบรนด์จีน ซึ่งติดอยู่ใน 10 อันดับแรกแบรนด์ที่มูลค่าสูงที่สุดของโลก ซึ่งปลาใหญ่เหล่านี้เป็นปลาเร็วที่พร้อมจะมาบุกตลาดค้าปลีกในประเทศไทย เพราะต่างชาติมีทุนหนา และการขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็วทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างที่เห็นในหลายปีที่ผ่านมา หากเทียบขนาดของซีพีแล้วไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่ในมหาสมุทร และมีปลาหลากหลายสายพันธุ์ที่พร้อมเข้ามาบุกน่านน้ำไทย ดังนั้น การเข้าซื้อโลตัสของซีพี โจทย์ใหญ่คือ จะติดปีกโลตัสให้คู่ค้าขยายตลาดบุกต่างประเทศได้อย่างไร

จุดแข็งของซีพีคือ การออกไปสู้ในมหาสมุทร แทนที่จะเป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก ซึ่งถือได้ว่าซีพีเป็นบริษัทไทยที่ไปบุกเบิกธุรกิจในต่างประเทศมากที่สุดบริษัทหนึ่ง ทำให้เรียนรู้ความผิดพลาด เรียนรู้ความสำเร็จมาหลายสิบปี หลายคนอาจคิดว่าซีพีมีรายได้หลักจากในประเทศจากการขายสินค้าการเกษตร แต่ข้อเท็จจริงตามรายงานความยั่งยืนของเครือซีพี เป็นบริษัทที่ลงทุนกว่า 22 ประเทศ ทำตลาดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพราะเป็นธุรกิจอาหารและการเกษตร จึงสามารถไปได้ทุกแห่ง และรายได้ส่วนใหญ่กว่า 60-70% มาจากต่างประเทศ และมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การที่ “เครือซีพี” เข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย จะเป็นโอกาสที่คู่ค้าจะได้ขยายตลาดไปในต่างประเทศ รวมถึงการต่อท่อสินค้าไทยไปในตลาดภูมิภาคอีกด้วย ดังนั้น อาจเป็นโอกาสหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น