ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว. เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมรับฟังการบรรยายบทบาทภารกิจของ GISTDA โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ GISTDA และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ให้การต้อนรับ
ภายหลังจากการเยี่ยมชม รมว.อว.กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเราเรียกว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะที่เราส่งไปเรียนหรือฝึกเองตามสาขาต่างๆ เวลานี้กำลังไปได้ดี ผมดูมาหลายที่รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เห็นเป็นเช่นนั้น และวันนี้ได้มีโอกาสมาที่ GISTDA เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง งานด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ GISTDA ทำเปรียบเทียบทั้งด้านสมรรถนะและศักยภาพในงานด้านนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ว่าไทยทำได้ในระดับไหน เขาทำได้ในระดับไหน แนวทางความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านควรทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาคนี้”
รมว.อว.กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการพัฒนากำลังคนอย่างที่เกริ่นไปตอนแรก ก็เห็นว่าขณะนี้บุคลากรของ GISTDA ที่ส่งไปเรียนได้เริ่มกลับมาทำงานที่ประเทศไทยแล้ว ซึ่งสามารถออกแบบและผลิตเครื่องมือ รวมถึงโซลูชันต่างๆ ได้น่าสนใจและมีความหลากหลาย ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงสรรพกำลังของมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้สิ่งเหล่านี้มีพลังที่มากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องของการเรียนการสอนหลักสูตร SCGI Master Program ระดับปริญญาโทนานาชาติ สาขาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง GISTDA มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบปัญหาโควิด-19 และตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ งานด้านอวกาศถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจและเป็นไปได้ คือเรื่อง spaceport หรือท่าอวกาศยาน หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่จริงๆ แล้วจะมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต แต่ spaceport จะใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวด รับดาวเทียมกลับสู่โลกด้วย ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบและเหมาะสมเป็น 1 ใน 7 ของโลก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ใกล้ทะเลทั้ง 2 ฝั่ง คือ อ่าวไทย และอันดามัน โดยเบื้องต้นตนได้ให้ GISTDA ทำข้อมูลและรายละเอียดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม การทำ spaceport จะเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงให้คนเก่งจากทั่วโลกมารวมตัวกันทำเรื่องจรวดและดาวเทียม ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจด้านอวกาศในประเทศ เกิดการสร้างรายได้เข้าประเทศ เกิดการจ้างงาน ประชาชนจะกินดีอยู่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย ถามว่าทำไมเราต้องทำเทคโนโลยีมากมาย
“สาเหตุเพราะเราต้องการให้ประเทศมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังอย่างที่สุด ไม่ใช้จ่ายเงินทองแบบฟุ่มเฟือยและไม่มีเป้าหมาย ชึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ให้ความสำคัญและสนใจกับงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก และพูดถึงงานของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อยู่บ่อยครั้ง”
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ GISTDA ได้ต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะ พื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ต้นน้ำและเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศที่สำคัญของประเทศที่จะช่วยส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศท่ามกลางการแข่งขันในยุคแห่งโลกนวัตกรรม โดยเป้าหมายของ GISTDA คือมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่ผ่านมา GISTDA ได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขั้นสูงที่เรียกว่าอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบัน GISTDA เองก็มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ บุคลากร และองค์ความรู้ที่พร้อมสำหรับการดำเนินงานทางด้านนี้อยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะก้าวสู่อุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มตัว บทบาทของ GISTDA ต่อภาคอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศเฉพาะในประเทศเท่านั้น เรายังจะยกระดับขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันด้านธุรกิจอวกาศในอนาคตไปสู่ระดับสากลอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ GISTDA ให้ความสำคัญมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสร้างกำลังคน การสร้างอาชีพ การสร้างรายได้ และวิถีชีวิตใหม่ให้แก่สังคมไทย โดยที่นโยบายในการพัฒนาดังกล่าวจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้โครงการระบบธีออส-2 ที่ว่าเราจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดาวเทียม โดยใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาดาวเทียมที่เรามีอยู่ภายใต้โครงการระบบธีออส-2 ซึ่งมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลพร้อมให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศให้แก่ประเทศ
นอกจาก GISTDA จะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในส่วนต้นน้ำดังที่กล่าวแล้วข้างต้น GISTDA ยังมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศตามภารกิจที่สำคัญของประเทศอีกด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานรัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น ใช้งบประมาณที่น้อยลง หรือแม้กระทั่งเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสักบาทเดียว ในช่วงหลายปีมานี้หลายภาคส่วนยอมรับ GISTDA ในฐานะผู้นำด้านการผลิตข้อมูลและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA ตัวอย่างเช่น ระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม หรือ G-MOS เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำ เมืองและชุมชน การเกษตร และภัยพิบัติ โดยข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA จะช่วยให้หน่วยงานระดับนโยบายมองเห็นภาพรวมของปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
ต่อข้อถามถึงงานวิจัยว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมอวกาศอย่างไร ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งานวิจัยถือเป็นอีกหนึ่งงานที่สำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ สัมฤทธิผล และต้องพร้อมที่จะนำไปสู่การใช้งานได้อย่างจริงจังในสังคมไทย โดย GISTDA พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นแนวหน้า ที่เรียกว่า “การวิจัยวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศ” หรือ Earth Space Science Frontier Research & Development & Innovation ที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยและบุคลากรไทยที่สนใจเข้าร่วมในโครงการวิจัยระดับนานาชาติ สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่อยอด ทั้งในลักษณะการ Spin-Off หรือจัดตั้ง Start-Up เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของชาติได้ อย่างเช่น การผลิตยารักษาโรคแบบใหม่ที่ต้องอาศัยสภาวะแรงโน้มถ่วงจากอวกาศของทางไบโอเทค หรือการสร้างความปลอยภัยให้แก่อวกาศไทย โดยผ่านความร่วมมือในรูปแบบ Space Consortium เป็นต้น
“จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลายส่วนที่กล่าวมานั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และความร่วมมือระหว่างประเทศ GISTDA พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น Active Facilitator ที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับทุกภาคส่วนอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศชาติที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดนั่นเอง” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว