xs
xsm
sm
md
lg

โคนมไทยปรับตัวด่วนรับFTAปี63 ต้นทุนนมนอกต่ำกว่านมไทย 50%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360-โฟร์โมสต์” (Foremost) “โฟร์โมสต์” ชี้ต้นทุนนมนอกต่ำกว่านมไทย 35-50% แนะต้องปรับตัวก่อนเปิด FTAแดนจิงโจ้-กีวี่ ปี 64 พร้อมเร่งเพิ่มศักยภาพเกษตรกรโคนมเพื่อการแข่งขันยั่งยืน คาดปริมาณนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หลังเปิดเสรีทางการค้าไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (TAFTA -สต์ TNZFTA) ในปี 2564 – 2568 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น

ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ “โฟร์โมสต์” (Foremost) เปิดเผยว่า “ในปี 2564 เรื่องความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) และความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Free Trade Agreement: TNZFTA) ที่ไทยเตรียมปลดล็อคภาษีนำเข้าเป็นศูนย์และไม่มีการจำกัดโควตานำเข้าสินค้ากลุ่มนมผงที่มีไขมันเกิน 1.5% ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม หางนม (เวย์) เนย ไขมันเนย (AMF) เนยแข็ง และในปี 2568 สำหรับกลุ่มสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย

จากข้อมูลเดือนมกราคม - กรกฎาคม ปี 63 พบว่า ไทยมีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์มูลค่า 7.9 พันล้านบาท และออสเตรเลียมูลค่ารวมกว่า 1.9 พันล้านบาทประกอบด้วย ชีส นมผงขาดมันเนย นมผงเต็มไขมัน เนย นมแปลงไขมัน ผงเวย์ โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมผงพร่องมันเนยและครีม ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าราคาต้นทุนการผลิตนมดิบของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ปัจจุบันมีราคาถูกกว่าไทยราว 35 – 50% โดยอยู่ที่ราคา 11 – 13 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ประเทศไทยราคาอยู่ที่ 17.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้คาดว่าหลังจากที่ไทยเตรียมปลดล็อคภาษีนำเข้าเป็นศูนย์และไม่มีการจำกัดโควตานำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมบางกลุ่ม ที่จะเริ่มในปี 2564 จะมีปริมาณการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าไทยมีปริมาณการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ ซึ่งการเปิดการค้าเสรีดังกล่าวหากเสร็จสมบูรณ์จะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมไทย ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมนมเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ที่ต้องปรับตัวและพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนให้เกษตรกรโคนมแข่งขันกันด้วยคุณภาพและต้นทุน พร้อมกับผลักดันให้เกษตรกรมีการพัฒนาศักยภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อการผลิตน้ำนมโคคุณภาพให้กับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนภาคอุตสาหกรรมผลิตต้องมีการปรับทั้งด้านมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง รวมถึงการทำการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อตอบสนองกับกลไลของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนให้มีการเปิดเสรีด้านกลไกราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้อุตสาหกรรมมีการปรับตัวตามกลไกราคาของตลาดเพื่อพร้อมรับการเปิดเสรีการค้า รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรโคนม อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในเชิงบูรณาการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน


ดร.โอฬาร กล่าวต่อว่า จากข้อมูลกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รายงานภาพรวมอุตสาหกรรมนมทั่วโลกข้อมูลปี 62 มีการผลิตนมปริมาณ 522 ล้านตัน เป็นการบริโภคราว 187 ล้านตัน อัตราเฉลี่ยประชากรทั่วโลกบริโภคนมคนละ 113 ลิตรต่อปี ภูมิภาคเอเชียประชากรเฉลี่ยดื่มนม 66 ลิตรต่อปี ส่วนคนไทยมีอัตราการดื่มนมปริมาณน้อยเฉลี่ยเพียงคนละประมาณ 18 ลิตรต่อปี หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น 

จะเห็นได้ว่าคนไทยมีปริมาณการดื่มนมต่ำเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยการดื่มนมของประชากรในภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ AC Nielsen ปี 62 พบตลาดนมไทยมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 1.นมพร้อมดื่มยูเอชทีและนมสเตอริไลส์ มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท 2.นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ มูลค่า 9.5 พันล้านบาท 3.นมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ 9.1 พันล้านบาท และ 4.นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที มูลค่า 5.2 พันล้านบาท มีปริมาณนมพร้อมดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในประเทศจำนวน 1.23 พันล้านลิตร และนมพร้อมดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากการนำเข้าจำนวน 1.22 พันล้านลิตร


ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์นม ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมเพื่อใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมประเภทอื่น ๆ แล้วส่งออก ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนยที่ได้จากนมและนมข้นหวาน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยข้อมูลกรมศุลกากรไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมปริมาณ 3.24 แสนตัน มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกรโคนมไทย ต่อสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีที่จะเกิดขึ้น ตลอดระยะเวลากว่า 64 ปี ที่โฟร์โมสต์อยู่คู่คนไทยมายาวนาน รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้รับซื้อน้ำนมดิบรายใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี จากสหกรณ์โคนมไทยกว่า 98 ล้านลิตรต่อปี โฟร์โมสต์มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องโดยใช้ภูมิความรู้ความเชี่ยวชาญของบริษัทแม่จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ถูกถ่ายทอดมาสู่ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) ภายใต้หลัก “Nourishing by Nature” เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรโคนมไทย ให้ได้มาตรฐานระดับโลกด้วย 7 แนวทางตามมาตรฐานเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ 
 


1.โคต้องได้อาหารและน้ำที่ดี - เพราะอาหารและน้ำต้องสมดุลเหมาะกับการหมักย่อยของจุลินทรีย์ในกระเพาะรวมและต้องมีน้ำที่สะอาดสำหรับให้โคดื่มตลอดวัน 2.ลูกโคดีคือหัวใจ - ลูกโคต้องได้รับนมน้ำเหลืองที่มีคุณภาพทันทีหลังคลอดจากนั้นให้กินนมควบคู่กับอาหารข้นอาหารหยาบและน้ำสะอาด พร้อมติดตามการเจริญของลูกโค 3.พันธุ์ต้องสมบูรณ์ - หลังคลอดลูกแม่โคจะให้น้ำนมส่วนลูกโคเพศเมียจะนำมาเลี้ยงให้สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อทดแทนแม่โคที่ปลอดออกหรือขยายฝูง 

4.การรีดนมต้องถูกวิธี – ความสะอาดในการรีดนมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องเช็ดทำความสะอาดเต้านม รีดนมต้นเพื่อเช็คคุณภาพน้ำนมและตรวจสอบปัญหาเต้านมอักเสบของแม่โคแบบรายตัว ส่วนเครื่องรีดต้องได้รับการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้และแช่น้ำยาป้องกันเชื้อหลังรีดนมทุกครั้ง 5.สำคัญที่กีบ – ดูแลกีบเท้าโคอย่าให้สึกบางจากพื้นคอกหรือจากอาหารการกินที่ไม่สมดุล พร้อมหมั่นแต่งกีบโคอย่างสม่ำเสมอ 6.การออกแบบโรงเรือน – โรงเรือนต้องออกแบบให้มีความสะอาดปลอดภัยต่อโคและการทำงานของเกษตรกร อีกทั้งอากาศถ่ายเทได้ดีและจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนเพียงพอต่อจำนวนโค 7.ระบบเดต้าเฉพาะฟาร์ม - มีการบันทึกข้อมูลฟาร์มที่ครบถ้วน พร้อมใช้ครอบคลุมทั้งรายได้ ผลผลิต ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโคนม

ทั้งนี้โฟร์โมสต์มุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรโคนมไทย ล่าสุดมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 14,000 ราย ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นรวม 20 ล้านบาทต่อปี










กำลังโหลดความคิดเห็น